ภาพข่าวเพิ่มเติม https://www.moe.go.th/websm/2014/feb/030.html
ศึกษาธิการ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เร่งดำเนินการในช่วงสภาวะวิกฤตทางการเมือง
รมว.ศธ.แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า มีเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการในช่วงสภาวะวิกฤตทางการเมือง 3 เรื่องหลัก ได้แก่
– การดำเนินงานของ ศธ. คาดว่าปัญหาความขัดแย้งน่าจะยืดเยื้อต่อไปอีก แ
– การเลือกตั้ง ซึ่งมีบุคลากรของ ศธ. จำนวนมาก เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งก็จะยืดเยื้อออกไปอีกเช่นกัน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แจ้งแล้วว่า หากนับคะแนนไม่ครบทุกหน่วยในประเทศ ก็จะนับคะแนนบัญชีรายชื่อไม่ได้
ทั้งนี้
– การดำเนินงานเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามงบประประมาณ ขอให้นำเสนอในที่ประชุมองค์กรหลัก โดยสรุปเสนอความก้าวหน้าในแต่ละหัวข้อแบบสั้นๆ ส่วนหัวข้อที่จำเป็นต้องคุยในรายละเอียดมากๆ ก็ให้ดึงเรื่องนั้นขึ้นมาหารือแบบยาวๆ ได้ ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐมนตรี (สร.) รวบรวมรายชื่อคณะกรรมการต่างๆ ที่ รมว.ศธ.เป็นประธานหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายงานสถิติการประชุมของคณะกรรมการเหล่านั้นด้วย
รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในช่วงสภาวะวิกฤตของ
องค์การค้าของ สกสค.
นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ได้รายงานผลกระทบจากการปิดล้อมโรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค.ของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งทำให้องค์การค้าของ สกสค. ไม่สามารถดำเนินการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งที่โรงพิมพ์ได้ จึงได้ย้ายไปผลิตบัตรเลือกตั้งต่อที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จนสามารถจัดพิมพ์และทยอยส่งบัตรเลือกตั้งได้ทันการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีประมาณการค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเป็นเงินทั้งสิ้น 156,096,000 บาท
ทั้งนี้ องค์การค้าของ สกสค.ได้รับความร่วมมือจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของ องค์การค้าของ สกสค. กว่า 800 คน เป็นอย่างดี และได้รับความอนุเคราะห์และอำนวยความสะดวกในการขนย้ายและจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งในหน่วยงานส่วนกลางและระดับภูมิภาค จากกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ศอ.รส. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นอย่างดียิ่งด้วย
รมว.ศธ.ขอให้องค์การค้าของ สกสค. เร่งดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือเรียนให้ทันตามแผนการปฏิบัติงานด้วย โดยอาจจะจัดประชุมหารือเพื่อวางแผนจัดพิมพ์หนังสือ เพราะการพิมพ์หนังสือเรียนเป็นหน้าที่หลักขององค์การค้าของ สกสค. และการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งก็เป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ แต่จะจัดแบ่งคนและงานอย่างไรให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ ทั้งนี้ หากเกิดผลกระทบหรือติดขัดอย่างใด ขอให้รายงานทันที เพื่อที่จะได้สื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย เช่น ผู้ปกครอง ผู้ค้าปลีก สถานศึกษา สื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งอาจจะต้องสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้ลดระดับความรุนแรงในการสร้างความเสียหายด้วย
รายงานสถานการณ์การปฏิบัติงาน และการเปิด–ปิดสถานศึกษา
– หน่วยงานในสังกัด สป. มีศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังสภาวะวิกฤตทางการเมืองทำหน้าที่อยู่ภายใน ศธ. และมีการประชุมทุกวัน มีเพียงวันที่ 28 – 29 มกราคมเท่านั้น ที่ไม่สามารถประชุมได้ สำหรับหน่วยงานต่างๆ ของ สป. ขณะนี้สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในบริเวณ ศธ. ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองปิดประตูเข้าออก ตัดไฟ และไม่ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานนั้น สป.ได้ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ เช่น จัดเวรยามเฝ้าระวังภายใน ศธ.ตลอดเวลากลางคืน ประสานงานไปยังการไฟฟ้านครหลวงเพื่อต่อไฟให้กับ ศธ. และแจ้งความเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการแล้ว
– สถานศึกษา ได้รับผลกระทบสูงสุดจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง คือในวันที่ 13 มกราคม 2557 โดยมีนักเรียนทั่วประเทศได้รับผลกระทบจำนวน 666,814 คน และโดยส่วนใหญ่สถานศึกษาจะพยายามเปิดเรียนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งได้มีการสอนชดเชย เพิ่มชั่วโมงเรียนจากเวลาปกติมากขึ้น และบางแห่งอาจะมีสอนเพิ่มเติมในวันหยุด
2) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2557 พบว่ามีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ได้รับผลกระทบจำนวน 1 เขต รวม 5 โรงเรียน ครูและนักเรียน จำนวน 750 คน ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ได้รับผลกระทบจำนวน 1 เขต รวม 6 โรงเรียน ครูและนักเรียน จำนวน 12,683 คน ทั้งนี้ มีเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง คือ การจัดโครงการติวเข้มให้แก่นักเรียนบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ได้ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวาง ทำให้นักเรียนเสียโอกาสทางการศึกษา
3) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถานศึกษาในสังกัด สอศ.ทุกแห่งสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติแล้ว
4) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขณะนี้ สกอ.ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดเวลาและจัดให้มีฝ่ายเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สามารถทำงานเข้าไปทำงานได้ตามปกติโดยไม่ถูกตัดน้ำตัดไฟแต่อย่างใด ในส่วนของมหาวิทยาลัยพบว่า ทุกมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนตามปกติ อาจจะมีบางมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากนัก ซึ่งต่อจากนี้ไปจะหารือร่วมกับ สพฐ. เกี่ยวกับการออกใบรับรองการศึกษา เพื่อให้นักเรียนใช้ในการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย รวมทั้งเรื่องการสอบตรง การกวดวิชาต่างๆ
รมว.ศธ.กล่าวว่า เหตุการณ์มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อต่อไป เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการขัดขวางการทำงานของข้าราชการและโรงเรียน เพื่อต้องการไม่ให้การเลือกตั้งสำเร็จเป็นผลสมบูรณ์ ฉะนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ควรจะต้องมีหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อรายงานสถานการณ์ เช่น การเปิดปิดสถานศึกษา ควรนำระเบียบทางราชการมาบังคับใช้ เพื่อป้องกันความเสียหายให้กับทางราชการ เพราะไม่ใช่เรื่องของการเมือง เป็นเรื่องของการศึกษาของเด็กและเยาวชนของชาติ หากปล่อยปละละเลย ปล่อยให้มีการปิดสถานศึกษา หรือไม่รายงานสถานการณ์ต่างๆ มายังส่วนกลาง ก็เท่ากับไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งส่งผลเสียต่อเด็กและเยาวชน ทำให้เสียโอกาสทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการใช้มาตรการให้เกิดการต่อต้านกลับมายัง ศธ. หรือใช้มาตรการจนเกิดความไม่พอใจและไม่ให้ความร่วมมือ เพราะที่ผ่านมา ศธ.ทำงานด้วยความเป็นเอกภาพอย่างมาก
กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
– ความเป็นมา เมื่อปี พ.ศ.2530 ได้กำหนดนโยบายให้มีโครงการอาหารกลางวัน โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ต่อมาในปี พ.ศ.2535 มีพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาด้วยวงเงิน 6,000 ล้านบาท และในปี พ.ศ.2544 ศธ.ได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวันไปให้กระทรวงมหาดไทยและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งและจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ปรับเงินค่าอาหารกลางวันจาก 13 บาท (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542) เป็น 20 บาท โดยขอให้ ศธ.หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคิดรายการอาหารพร้อมระบุตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าทางโภชนาการที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย
– งบประมาณ การดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ใช้งบประมาณจาก 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามรายหัวนักเรียน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5.8 ล้านคน และส่วนที่ 2 กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ที่กำหนดให้กองทุนนำดอกผลของวงเงินเริ่มต้น 6,000 ล้านบาท มาใช้ในการส่งเสริมผลผลิตโครงการอาหารกลางวัน ช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งในปี 2557 มีดอกผลจำนวน 2,435 ล้านบาท
– แผนการดำเนินงาน กองทุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา กำหนดจัด 9 กิจกรรมในปี 2557 วงเงินงบประมาณ 761 ล้านบาท เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายการให้บริการอาหารกลางวันจากนักเรียน ป.1-6 เป็นนักเรียนชั้นอนุบาลถึง ม.3 พร้อมทั้งจัดประชาพิจารณ์ผู้เกี่ยวข้องใน 4 ภูมิภาค จัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
รมว.ศธ.กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุนก็เพื่อให้เกิดการดำเนินงานในส่วนที่ในระบบไม่สามารถทำได้คล่องตัว ดังนั้น กองทุนต้องหาองค์ความรู้จากการดำเนินงาน เพื่อมาทำการวิเคราะห์ และรายงานหรือส่งต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงานต่อไป เช่น จำนวนเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ ทั้งที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ สรุปการใช้งบประมาณว่าส่งเสริมและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ การวิเคราะห์มาตรฐานทางโภชนาการที่จะต้องมีแนวคิดมารองรับ ทั้งความยากจน ภาวะทุพโภชนาการ หรืออาจจะอ้างอิงมาตรฐานสากล
จึงได้มอบหมายให้กองทุนวิเคราะห์และรายงานข้อมูลการดำเนินงานย้อนหลังเป็นเวลา 5 ปี ได้แก่ งบประมาณที่ใช้ ผลลัพธ์หรือจำนวนเด็กที่ได้รับประโยชน์ จำนวนเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการทั้งประเทศ และขอให้จัดระดับความรุนแรงของภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียน โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์ในแต่ละระดับ พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้ การดำเนินงานของกองทุนควรเร่งให้ทันตามปฏิทินปีงบประมาณ เพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยขอให้ยึดหลักช่วยเหลือโรงเรียนที่มีปัญหาจริงๆ คือ โรงเรียนที่มีนักเรียนภาวะทุพโภชนาการจำนวนมาก ห่างไกล หรือโรงเรียนที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการอาหารกลางวัน
นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้มอบแนวทางในการตรวจเยี่ยมโรงเรียนพื้นที่สูง พื้นที่พิเศษ ว่าการเดินทางเพื่อไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนเหล่านี้ จะต้องนำเสนอให้ได้ข้อมูล ข้อสรุป หรือแนวทางที่จะสะท้อนภาพรวมของ ศธ. มีการนำตัวอย่างโรงเรียนในโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นแบบอย่างหรือต่อยอดกับการดำเนินงานในโรงเรียนอื่นๆ รวมทั้งแนวปฏิบัติระดับเขตพื้นที่การศึกษา และการถอดบทเรียน เพื่อให้การเดินทางไปตรวจเยี่ยมเกิดประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
นพรัตน์ สบายกาญจน์, นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
3/2/2557