รมช.ศธ.กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม
โรงแรมดุสิตธานี – สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD จัดการประชุม Trade and Development Regional Forum 2016 ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Trade and Investment in Asia: Time for Actions”
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดว่า โลกปัจจุบันให้ความสำคัญกับ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” หรือ The ambitious 2030 Agenda ของสหประชาชาติ ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ด้าน (Sustainable Development Goals) โดยเน้นการดำเนินงานเพื่อประชาชน ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ เพื่อโลกใบนี้ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของมนุษย์ทุกคน ในขณะเดียวกันเป้าหมายที่จะเปลี่ยนโลกให้เกิดการพัฒนาและมีความยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องมีมากกว่าข้อคิดเห็นหรือโครงร่างของแผนงานที่ดี อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างมากคือ “การกระทำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง”
อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ด้าน ขึ้นอยู่กับนโยบายที่เป็นรูปธรรมและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายในแต่ละด้าน และการที่จะบรรลุเป้าประสงค์เหล่านั้นได้ ทุกคนในสังคม เช่น ผู้นำระดับโลก ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น นักลงทุน นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ และพลเมืองในประเทศต่าง ๆ ต้องร่วมมือกัน
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว อันเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ดังเช่นคำขวัญที่ว่า “S4S: Sufficiency for Sustainability” ความพอเพียงเพื่อความยั่งยืน (โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี) อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นปรัชญาที่ขึ้นอยู่กับการจำกัดการผลิตและการบริโภค แต่ในความเป็นจริงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นความเจริญรุ่งเรืองของประชาคมโลกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้แบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนซึ่งเป็น 2 เสาหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งไทยและประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชียเพิ่งจะเริ่มมีการค้าและการลงทุนในรอบหลายสิบปีมานี้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยความท้าทายในขณะนี้คือการกระตุ้นการค้าและการลงทุนในรูปแบบของการเจริญเติบโตแบบใหม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงการนำไปใช้ประโยชน์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจและการเงินการคลังด้วย
การประชุมในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดบทบาทและกลยุทธ์ในการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน พร้อมทั้งเป็นการทำประโยชน์เพื่อประชาคมโลก อีกทั้งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษามุมมองความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจด้วยแนวทางเลือกใหม่ ๆ รวมทั้งการบูรณาการความสมดุลระหว่างการส่งเสริมนโยบายและความตระหนักในสิ่งแวดล้อมและสังคม
และเพื่อที่จะให้บรรลุทางการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนในเอเชีย และบรรลุความท้าทายบนโลกใบนี้ การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้น โดยยึดหลักการ 3 ข้อที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน คือ การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ มีการแข่งขันอย่างเสรี และมีระบบการเงินการคลังที่มั่นคง เพื่อตอบสนองการพัฒนาของประเทศและสร้างศักยภาพให้กับประเทศ
ทั้งนี้ เพราะการมีความรู้ที่ปราศจากการลงมือทำย่อมไร้ประโยชน์ ส่วนการกระทำที่ปราศจากองค์ความรู้ จะเป็นการกระทำที่ส่งผลให้เกิดอันตราย (Knowledge without action is potentially useless and action without knowledge is potentially harmful)
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป / รายงาน
นวรัตน์ รามสูต : ถ่ายภาพ
21/9/2559