รมว.ศธ.เป็นประธานในพิธีรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 12 เพื่อเชิดชูเกียรติแด่ครู 183 ท่าน ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
(20 มกราคม 2565) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 12 ณ โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว จังหวัดปัตตานี
รมว.ศธ. กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ มีความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม บ้างได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต มีความทุกข์ยากในการประกอบอาชีพและการดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้เป็นปูชนียบุคคลที่ต้องปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ด้วยความเสียสละ เพียรพยายาม อดทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเด็ก เยาวชน และพัฒนาการศึกษาของชาติให้ก้าวไกล
ขอสดุดีและแสดงความคารวะต่อคุณความดีของครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่เสียชีวิตทั้ง 183 ท่าน ตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพอีกจำนวนหนึ่ง ที่ได้อุทิศตนเสียสละเอาความลำบากยากเข็ญ แม้กระทั่งชีวิตเข้าแลกไว้ เพื่อทำให้การศึกษายังดำรงคงอยู่เป็นคุณค่า สร้างคุณประโยชน์ต่อเด็กนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ตลอดจนประชาชนทุกคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอขอบคุณสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ ที่ได้ให้เกียรติเชิญให้มาเป็นประธานในครั้งนี้
โอกาสนี้ รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญรับฟังและติดตามสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด รู้สึกเข้าใจและเห็นใจถึงความยากลำบากของเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงน้อง ๆ ลูกหลานนักเรียนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ที่ต้องประสบและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวเหตุการณ์เหล่านี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพียงแต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพวกเรา ไม่ว่าส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น ต้องเข้ามาดูแล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน การดำรงชีวิต สิ่งใดที่ยังขาดเหลือต้องมาช่วยกันเติมให้เต็ม ให้พี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้ สามารถเข้าถึงโอกาสในด้านต่าง ๆ ได้ไม่แพ้ภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ
แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จะค่อย ๆ ทุเลาลงไปบ้างแล้ว แต่ยังมีอยู่สิ่งหนึ่งที่พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนทุกภูมิภาคทั่วประเทศต้องประสบพบเจอไม่ต่างกัน คือ เรื่องของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้สามารถจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบ หรือ 5 On อีกทั้งการฉีดวัคซีนครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนวัคซีนนักเรียน สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ซึ่งล่าสุดทางศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการขยายช่วงอายุของเด็กที่จะได้รับวัคซีนลงมาเป็นระหว่างอายุ 5-11 ปีแล้ว คาดว่าภายในสิ้นเดือนมกราคมจะพร้อมฉีดเข็มแรก รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยครั้งมากขึ้น และแผนเผชิญเหตุ สำหรับสถานศึกษากรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานศึกษา ก็ยังขอให้ดำเนินการต่อไป
เชื่อมั่นว่านโยบายและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ดังกล่าว เพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์โควิดที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ขอเพียงแค่ไม่ตื่นตระหนก และอยู่ร่วมกับมันให้ได้ เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่าโลกจะไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมแบบที่เคยเป็นมาก่อน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจถึงความผันผวน ตลอดจนปรับตัวให้มีทักษะที่จะสามารถอยู่รอดท่ามกลางกระแสของการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ฝากไปยังเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสถานการณ์ในเวลานี้ คือทำอย่างไรให้ผู้เรียนไม่พลาดโอกาสที่จะเรียนรู้ ครูต้องเปลี่ยนจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้” ที่จะคอยจุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้ ได้ทุกที่ ทุกเวลา สร้างให้ชุมชนและสังคมของเขา เป็น “ห้องเรียนชีวิต” เพื่อที่จะได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสามารถนำพาประเทศเข้าสู่การแข่งขันได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดปัตตานี และพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อื่น ๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชุมชนสังคม ที่มีความพิเศษ และโดดเด่นกว่าหลาย ๆ ภูมิภาคในประเทศไทย เชื่อว่าจะมีสิ่งดี ๆ สิ่งที่น่าเรียนรู้ ให้แก่เด็ก ๆ และเยาวชนได้เข้ามาเก็บเกี่ยว เรียนรู้ และซึมซับวัฒนธรรมของที่นี่อีกมากมาย
“ในนามของ ศธ. ขอแสดงความชื่นชม ขอเป็นกําลังใจแก่ครู และบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกท่านด้วยความจริงใจ รวมทั้งขอแสดงความเสียใจต่อทายาทของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทุกท่าน ที่ได้สร้างคุณงามความดี อบรมสั่งสอนศิษย์ สร้างคนเก่งคนดีของแผ่นดินปลายด้ามขวานแห่งนี้มากมายจากรุ่นสู่รุ่น การสูญเสียของท่าน แม้ไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ท่านทั้งหลายได้สร้างอานิสงส์ ซึ่งเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวง ก่อให้เกิดสวัสดิการและสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นานัปการ”
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้นำกล่าวสดุดีคุรุวีรชนชายแดนใต้ ตอนหนึ่งว่า “ครูและบุคลากรทางการศึกษา นับเป็นบุคคลที่มีความสำคัญซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะครูเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนทุกหนแห่ง เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา อบรมสั่งสอน ปลูกฝังคุณธรรม ความคิด ความเข้าใจในสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีและถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน ชุมชน และสังคม ถึงแม้ทางราชการหรือผู้ที่รับผิดชอบจะมีนโยบายหรือมาตรการที่ดีต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ยังต้องอาศัยครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นหลักในการจัดการศึกษา
“ขอชื่นชมและขอขอบคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ทุ่มเท เพื่อพัฒนาและมุ่งหวังให้การศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้มีคุณภาพการศึกษาที่ดี เป็นความหวังของสังคมและประเทศชาติ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อทายาทของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ขอไว้อาลัยแด่ดวงวิญญาณของคุรุวีรชนทุกท่าน ผู้เสียสละเพื่อการศึกษาบนแผ่นดินเกิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ในโอกาสนี้”
นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ ตลอดจน 11 ครั้งที่ผ่านมา คือ ต้องการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่พี่น้องเพื่อนครูที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งชาวไทยพุทธและชาวมุสลิม ให้พวกเขาได้รับรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาได้เสียสละให้กับแผ่นดินนั้น คนที่อยู่เบื้องหลังอย่างเราไม่เคยลืม อีกทั้งเชิดชูเกียรติครูผู้กล้าแห่งแผ่นดินที่ร้อนระอุด้วยความตายเยี่ยงวีรชนชายแดนใต้ รวมทั้งสร้างความรักความผูกพันระหว่างพี่น้องบุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่มทุกฝ่ายและพี่น้องประชาชนทุกคน
18 ปีที่ผ่านมา ทุกคนไม่เคยคิดว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีผลกระทบต่อครูซึ่งเป็นปูชนียบุคคลอย่างมหาศาล โดยเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียทั้งหมด 183 ราย
ในช่วงปี พ.ศ.2547 – 2553 เป็นช่วงที่พี่น้องเพื่อนครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความทุกข์ระทม หวาดกลัว และอ่อนล้าอย่างมาก เมื่อชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย มีความคิดว่าไปทำงานตอนเช้า เย็นอาจจะไม่ได้กลับบ้าน ไปโรงเรียนเหมือนไปสงคราม
สมาพันธ์ครูฯ และพี่น้องครูผู้กล้าจึงรวมตัวกันเพื่อเป็นหลัก เป็นศูนย์รวมดวงใจให้ครูทั้งหลายในพื้นที่ได้ต่อสู้ เรียกร้องในเรื่องความปลอดภัย จากวันนั้นสู่วันนี้สถานการณ์ดีขึ้นมาก โดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ฝ่ายทหารและตำรวจ รวมทั้งพี่น้องเพื่อนครูทุกคนที่รู้ตัวว่าตนเองคือเป้าหมาย ซึ่งได้เรียนรู้จากสถานการณ์และถอดบทเรียน เพื่อปกป้องตนเอง
ทั้งนี้ สมาพันธ์ครูฯ ได้มีการเรียกร้องสวัสดิการให้ครูในหลายเรื่องตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นเงินเสี่ยงภัย การเลื่อนขั้นกรณีพิเศษ ซึ่งครูทุกท่านไม่อยากได้ในส่วนนี้ เพราะที่ได้มาคือต้องทำงานชดเชยกับการสูญเสียเพื่อนพี่น้องครูที่เสียชีวิต ซึ่งบุคคลเหล่านี้ทำงานด้วยความเสียสละให้กับการศึกษาอย่างแท้จริง
บางครอบครัว เสียเสาหลักไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงได้มีการเรียกร้องเงินชดเชยให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิตทั้ง 183 ราย ตามมติ ครม. เห็นชอบให้รายละ 4 ล้านบาท ซึ่ง ศธ.ได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนหนึ่ง สุดท้ายนี้ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรพวกเราจะไม่ทิ้งเด็ก ไม่ทิ้งโรงเรียนที่สอน จะรักทุกอย่างที่อยู่ในชายแดนใต้ และจะอยู่ด้วยความสันติสุข
“จากสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ จากครั้งในอดีตถึงปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงดินแดนแห่งสันติสุขเป็นสมรภูมิของความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรง ถึงขั้นบาดเจ็บ ล้มตาย พิการ และทุพพลภาพ เป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ครู” ซึ่งเป็นปูชนียบุคคล ที่มีแต่ความรู้ ความรัก ความห่วงใย และความปรารถนาดีต่อศิษย์และแผ่นดิน ในนามสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอชื่นชมต่อความกล้าหาญ เสียสละของครูทุกคน อีกทั้งขอคารวะและอาลัยยิ่งต่อเพื่อนครูและครอบครัวครูผู้สูญเสียจากการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้กำลังใจและให้คำมั่นสัญญาว่าสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้จะพยายามช่วยกันดูแล ส่งเสริมสนับสนุนให้พี่น้องครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีขวัญกำลังใจ ก้าวหน้าปลอดภัยและเป็นหลักชัยพัฒนาการศึกษาของแผ่นดินนี้ต่อไป หวังว่าอีกไม่นาน “สันติสุข ชายแดนใต้” จะกลับมา”
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าเวลา 07.00 น. มีกิจกรรมรำลึกคุรุวีรชน ด้วยการถวายสังฆทาน และตักบาตรอาหารแห้ง สำหรับครูผู้วายชนม์ที่นับถือศาสนาพุทธ และละหมาดฮายัต สำหรับครูผู้วายชนม์ที่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณของครูผู้เสียสละได้สู่สุคติ
จากนั้นเวลา 10.00 น. รมว.ศธ. รวมทั้งผู้แทนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ตลอดจนผู้มีเกียรติ ได้ร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการ และคารวะอนุสรณ์สถานคุรุวีรชนชายแดนใต้ รวมทั้งรับชมวีดิทัศน์ “18 ปี สมาพันธ์ครู เคียงคู่ เชิดชู ครูชายแดนใต้” และการแสดงชุด “เชิดชูสดุดีคุรุวีรชนปลายด้ามขวาน” ตลอดจนวางพวงมาลัยดอกมะลิร้อยดอกกุหลาบสีชมพู อันเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความระลึกถึง เพื่อไว้อาลัยแด่คุรุวีรชนทั้ง 183 ท่าน