ยกระดับ PISA

โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ในคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน เพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ประจำปีการศึกษา 2557 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีนางผานิตย์ มีสุนทร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน  ดร.อ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งผู้บริหาร ศธ. นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา เข้าร่วม 50 คน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ณ ห้องบงกชรัตน์ B ชั้น 2



รมว.ศธ.ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังการประชุม โดยกล่าวถึงประเด็นการพิจารณาร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยกร่างมา แผนดังกล่าวมีเป้าหมายให้แต่ละวิชามีผลคะแนนเพิ่มขึ้น และมีผลต่อการตั้งเป้าหมายในเรื่องอันดับ PISA ที่สูงขึ้น รวมถึงร้อยละของนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำกว่าระดับ 2 ว่าจะต้องลดลงเป็นเท่าไร ร้อยละของนักเรียนที่ได้คะแนนระดับ 5 คือนักเรียนที่มีศักยภาพสูง จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่ ไม่เพียงคำนึงถึงแต่ค่าเฉลี่ย


ทั้งนี้ มีแนวปฏิบัติที่จะเริ่มดำเนินการในกลุ่มเป้าหมาย ป.4 ป.6 และ ม.1 ม.3 ต้องแยกกันเป็น 2 กลุ่ม เพราะเป็นสองรุ่นที่จะสอบคนละครั้งกัน ม.1 ม.3 คือผู้ที่จะสอบในปี 2558 และ ป.4 ป.6 คือผู้ที่จะสอบในคราวถัดไป คือ ปี 2561 แต่จะเน้นที่รุ่นแรกก่อน คือ ม.1 ม.3 โดยมีแนวปฏิบัติ แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่


1) การแทรกกิจกรรมพัฒนาด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์ ตามแนว PISA ในทุกรายวิชาหรือรายวิชาที่เหมาะสม ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
2) ปรับเปลี่ยนข้อสอบ โดยเพิ่มข้อสอบที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ศักยภาพในการคิดวิเคราะห์ และแบบทดสอบตามแนว PISA เพิ่มมากขึ้น
3) สร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริหารการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคมทั่วไป ให้มีความรู้ ความเข้าใจ
4) ส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนกลุ่มที่มีผลการสอบ PISA ปี 2555 ต่ำ
5) สร้างความเข้มแข็ง ของการกำกับ ติดตามและประเมินผล ให้เป็นเครื่องมีสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน


การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้แสดงความเห็นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันที่สำคัญคือ โครงการนี้เป็นโครงการที่มีการจัดสรรงบประมาณ 210 ล้านบาท จึงควรกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า การเลื่อนอันดับ PISA ของประเทศเป็นเพียงตัวชี้วัด โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ การยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และมีสาระสำคัญ คือ การส่งเสริมให้มีการคิดวิเคราะห์ ซึ่งที่ประชุมไดมีข้อสรุปสำคัญเพิ่มเติมว่า เรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้เร็ว เช่น การจัดหาข้อสอบ แบบเรียน สามารถดำเนินการได้เร็วด้วยวิธีจัดหามาจากสิ่งที่มีอยู่แล้วทั้งในประเทศไทยและจากต่างประเทศ ควรรีบดำเนินการ จะได้มีเวลาสำหรับการดำเนินการในเรื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า เช่น การฝึกอบรมครู การนำข้อสอบมาวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบว่า การที่เด็กจะทำข้อสอบประเภทนั้นได้ จะต้องมีการเรียนการสอนอย่างไร จะต้องเปลี่ยนเนื้อหาตั้งแต่หลักสูตร และการเรียนการสอนอย่างไร ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการเรื่อง PISA


ข้อสรุปสุดท้ายคือ ขอให้มีการไปทำปฏิทินการทำงาน หรือ Roadmap ว่าจากนี้ไป จะต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร โดยงบประมาณที่จัดสรรในครั้งนี้ ก็จะมีการจัดสรรให้กับโครงการในแต่ละด้าน ขณะเดียวกันก็จะมีการมอบไปยังเขตพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการได้ด้วย ไม่ได้รวมอยู่ที่ส่วนกลางเท่านั้น


รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.moe.go.th/websm/2014/jan/019.html













 

ร่างแผนยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน
และการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย
โดยใช้องค์ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ PISA ปีงบประมาณ 2557


มาตรการที่ 1 การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริหารการศึกษาจากส่วนกลาง จากเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารการศึกษาจากหน่วยงานอื่น คณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนครู พ่อแม่ ผู้ปกครองและสังคมทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจ เห็นคุณค่าและความสำคัญของการเข้าร่วมโครงการ PISA ของประเทศไทย


– กิจกรรมที่ 1 การสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักให้กับผู้บริหารการศึกษาส่วนกลาง ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารการศึกษาจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
– กิจกรรมที่ 2 การสร้างความตระหนักผ่านสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ และการจัดเสวนาสาธารณะ
– กิจกรรมที่ 3 การจัดทำหลักสูตรอบรมเชิงลึกการจัดการเรียนรู้ตามแนว PISA สู่ห้องเรียน
 

  
  
  
  
  
  
  
  
  
  
  
  
  
  
    

 



 
 

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ
เรื่องแนวปฏิบัติการดำเนินงานของสถานศึกษาเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA


เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และนำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จในการยกระดับผลการประเมินตามโครงการ PISA ของประเทศไทยได้ตามที่ตั้งไว้ กระทรวงศึกษาธิการจึงกำหนดแนวปฏิบัติให้สถานศึกษาทุกแห่งดำเนินการ ดังนี้


2. จัดกิจกรรมเสริมเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับสภาพของนักเรียนและบริบทของสถานศึกษา เช่น กิจกรรมก่อนเข้าเรียน หลังเลิกเรียน กิจกรรมชุมนุม ประมาณสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง