โรงเรียนดีมีคุณภาพ

          การศึกษาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดีมีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ โรงเรียนจัดได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีศักยภาพที่จะแข่งขันในเวทีโลกได้ ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการพัฒนาโรงเรียนไปสู่การเป็น “โรงเรียนดีมีคุณภาพ” เพื่อให้เป็นที่รวมของความมีคุณภาพในทุกส่วนที่โรงเรียนพึงมีพึงเป็น การจัดการศึกษาของโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นโรงเรียนที่หนึ่งในโลกนั้น ต้องยึดหลักตอบสนองความต้องการและความสนใจของเด็กเป็นสำคัญที่สุด โรงเรียนจากหลายประเทศมีการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการและความสนใจของเด็กได้อย่างแท้จริง เมือถึงเวลาเรียนครูและนักเรียนจะตกลงกันใครจะทำอะไร เด็กแต่ละคนจะเสนอสิ่งที่ตนอยากทำ เด็กที่สนใจเรื่องเดียวกันก็ให้อยู่กลุ่มเดียวกัน โดยโรงเรียนมีอุปกรณ์ให้พร้อม เด็กทุกคนจะได้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ตนสนใจ หากเด็กเบื่อหน่ายในการทำกิจกรรมนั้นก็ไม่บังคับ เมื่อสนใจใหม่อยากร่วมกิจกรรมใหม่ก็ทำได้ แต่ครูจะต้องมีวิธีที่จะหันเหความสนใจของเด็กให้กลับมาที่เดิมได้อย่างละมุนละม่อมไม่หักหาญน้ำใจหรือไม่ใช้การสั่ง นอกจากนี้ เฟอร์กัส บอร์เดวิช ได้กล่าวถึงโรงเรียนดีเลิศไว้ว่า การจัดการเรียนการสอนจะไม่ทำกิจกรรมเดียวกันในเวลาเดิม และจะใช้เวลามากน้อยต่างกันในแต่ละวัน นักเรียนทุกคนจะทำแผนการเรียนของตนเองสำหรับทั้งปี นักเรียนทุกคนจะตั้งเป้าหมายการเรียนที่เหมาะสมกับตนเอง โดยมีพ่อแม่ และครูช่วยคิด เด็กจึงมีแรงจูงใจในการเรียนที่สูงอยู่ตลอดเวลา สำหรับแนวทางสำหรับผู้ปกครองในการหาโรงเรียนดีๆ ให้กับบุตรหลานของตนเอง Joan Herman และคณะ กล่าวว่า ประชาชนมีความต้องการโรงเรียนที่จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพสำหรับเด็ก และมีระบบการบริหารที่ตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก มีหลักสูตรที่ทันสมัย มีการพัฒนาเทคนิค และวิธีการสอนของครู








 


          อย่างไรก็ตาม พนม พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า โรงเรียนมีชื่อเสียงตามทัศนคติของคนโดยทั่วไป คือ ความเด่น ความมีชื่อเสียงของโรงเรียน ซึ่งอาจเป็นตัวบ่งบอกความมีคุณภาพของโรงเรียน แต่โรงเรียนที่ไม่เด่นไม่ดังไม่ใช่ว่าไม่มีคุณภาพ และอาจมีคุณภาพไม่แพ้โรงเรียนเด่นโรงเรียนดังก็เป็นไปได้ การพัฒนาให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนดีมีคุณภาพ ต้องมีการพัฒนาความเข้มแข็งของผู้นำ และบุคลากรการบริหารจัดการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน เป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรงเรียนที่ดี ทำให้ผู้เรียนทีคุณภาพ โดยผ่านกระบวนการจัดการทางด้านวิชาการ การเรียนรู้ และกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนตามมาตรฐานและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์

        การศึกษากรณีตัวอย่างโรงเรียนดีมีคุณภาพในระดับมัธยมศึกษาขนาดกลางมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินกิจกรรมของโรงเรียนดีมีคุณภาพในมัธยมศึกษาขนาดกลางในด้านปัจจัย กระบวนการและผลผลิต จากโรงเรียนที่เข้าเกณฑ์โรงเรียนดีมีคุณภาพ คือ โรงเรียนที่ผ่านการประเมินของ สมศ.ในระดับดี หรือเป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัลพระราชทานจำนวน 4 โรง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 4 คน ครูจำนวน 38 คน ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 20 กรกฎาคม 2548 จากการศึกษาพบว่า



1. ปัจจัยที่นำไปสู่โรงเรียนดีที่ทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพ ประกอบด้วยผู้นำและบุคลากรมีความเข้มแข็ง การบริหารจัดการ และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ดังนี้



  • ผู้นำและบุคลากรมีความเมแข็งประกอบด้วย การนำองค์กร การพัฒนาบุคลากร และการดูแลคุณธรรมจริยธรรมครู


    • การนำองค์กร ผู้บริหารโรงเรียนดีมีคุณภาพเป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำ และมีความสามารถในการบริหารจัดการ มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตย และบริหารงานแบบมีส่วนร่วม

    • การพัฒนาบุคลากร สถานศึกษา ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรทุกคนได้เข้าร่วมการประชุมอบรม สัมมนาทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อพัฒนาเสริมสร้างความรู้ด้านการเรียนการสอน การบริหารจัดการ หลักสูตร ตลอดจนการทำงานเป็นทีม

    • การดูแลคุณธรรมจริยธรรมครู โรงเรียนได้เสริมสร้างระเบียบวินัย ให้ทุกคนยอมรับในกติการ่วมกัน ส่งเสริมให้ครูปฏิบัติตนตามหลักศาสนา มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ ความเข้าใจ และเอาใจใส่ ผู้เรียนทุกคนอย่างสม่ำเสมอ

  • การบริหารจัดการ พบว่า ผู้บริหารมีการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ เน้นให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน ร่วมคิด ร่วมทำ สร้างให้ครูเกิดศรัทธา โดยทำตัวเป็นแบบอย่างแก่ครูให้ขวัญและกำลังใจ สำหรับยุทะศาสตร์การวางแผนดำเนินงานมีการกำหนดทิศทางการทำงานโดยทุกงานต้องชัดเจน ทิศทางการทำงานต้องมุ่งไปที่ “เด็ก” มีการกำหนดปฏิทินการปฏิบัติงานของกลุ่มโดยวางแผนเป็นเดือน สัปดาห์ และวัน มีการนิเทศ ติดตามและประเมินผลอย่างถูกต้อง ครอบคลุมกิจกรรมของโรงเรียนและตรงกับความต้องการใช้งาน และมีการใช้อาคารสถานที่อย่างเป็นระบบ

  • การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน พบว่า ผู้ปกครองและชุมชนมีความสัมพันธ์และให้ความร่วมมือกับโรงเรียน คือ ร่วมเป็นคณะกรรมการของโรงเรียนและภาคีเครือข่ายโรงเรียน เชิญผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษา พัฒนาการศึกษาให้ข้อมูลพัฒนาโรงเรียน และให้คำปรึกษาที่ดีกับชุมชน โดยการส่งคณะครูและนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่ชุมชนเป็นผู้จัด นอกจากนี้ผู้ปกครองและชุมชนได้เข้ามาช่วยสอดส่องพฤติกรรมนักเรียน เป็นวิทยากร/ภูมิปัญญา เป็นแหล่งเรียนรู้ในการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน สนับสนุนงบประมาณ และวัตถุอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน



  1. การจัดการทางด้านวิชาการที่เป็นกระบวนการนำไปสู่โรงเรียนดีที่ทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพ ได้แก่ หลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนรู้ ระบบสารสนเทศและระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน








    • หลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนต้องสร้างหลักสูตรของตนเอง โดยมีหลักสูตรแกนกลางเป็นกรอบทิศทางในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา มีมาตรฐานการเรียนรู้เป็นข้อกำหนดคุณภาพของผู้เรียน และการบริหารจัดการเน้นการมีส่วนร่วมของฝ่ายบริหาร ครู บุคลากร และชุมชน เพื่อให้สนองความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดทำหลักสูตรแบบมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและผู้แทนของชุมชนเข้ามาร่วมวางแผน


    • การเรียนรู้ โรงเรียนมีระบบการเรียนรู้ คือ มีการวิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิเคราะห์ผู้เรียน ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ และการประเมินผลการเรียนรู้แต่ละหน่วย มีการผลิตและพัฒนานวัตกรรม พัฒนาแหล่งเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ นิเทศติดตาม/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประเมินผลการเรียนรู้ การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ การวิจัยพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง และบันทึกสรุปผลรายงาน ในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระต่างๆ มีกระบวนการและวิธีการที่หลากหลาย โดยผู้สอนต้องคำนึงถึงพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญา วิธีการเรียนรู้ ความสนใจ และความสามารถของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละช่วงชั้นมีวิธีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้จากธรรมชาติ เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เรียนรู้แบบบูรณาการ เรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านที่ช่วยในการถ่ายทอดประสบการณ์ให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามสื่อที่นักเรียนสนใจ มีการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง และใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้


    • ระบบสารสนเทศ โรงเรียนมีและใช้ระบบสารสนเทศในด้านการบริหารจัดการและด้านการเรียนรู้ เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องและชุมชนได้รับรู้เกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานและข่าวสารต่างๆ ของโรงเรียน ข้อมูลสารสนเทศของโรงเรียนมีความสำคัญนั้นหากโรงเรียนมีระบบข้อมูลสารสานเทศเกี่ยวกับนักเรียน ครู และผู้บริหาร ตลอดจนผลการดำเนินงานของโรงเรียนครบถ้วนถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ตรงกับความต้องการ และสามารถนำไปใช้ทันต่อการใช้งานอย่างต่อเนื่องแล้ว จะเป็นประโยชน์และมีความสำคัญต่อการตัดสินใจ และการวางแผนบริหารงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


    • ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนมีระบบการดำเนินงาน คือการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การส่งเสริมนักเรียน การป้องกันและช่วยเหลือนักเรียน และการส่งต่อ การจัดกิจกรรมดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นการประสานสัมพันธ์กับผู้ปกครองและนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการบวนการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างมีขั้นตอน พร้อมด้วยวิธีการและเครื่องมือการทำงานที่ชัดเจน โดยมีครูประจำชั้นเป็นบุคลากรหลัก ในการดำเนินการมีประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับครูที่เกี่ยวข้องหรือบุคลากรภายนอก รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมจากโรงเรียน

  2. คุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผลผลิตของการจัดการการศึกษาคุณภาพของผู้เรียนด้านความรู้ความสามารถทางวิชาการ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นและมีคะแนนเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มสาระเพิ่มขึ้น นักเรียนมีความสามารถในการวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ เรียนรู้ด้วยตัวเอง และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ สำหรับความรู้ความสามารถในการแข่งขัน พบว่า นักเรียนบางคนมีความสามารถและผลการเรียนดีเด่น สามารถสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนในการแข่งขันต่างๆ ได้ ซึ่งสอดคล้องกับจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เน้นให้ผู้เรียนมีความสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเรียน และรักการค้นคว้า มีความรู้อันเป็นสากลรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิทยาการ มีทักษะและศักยภาพในการจัดการ การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี ปรับวิธีการคิด วิธีการทำงานได้เหมาะสมกับสถานการณ์ สำหรับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน พบว่า โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนมีความประพฤติที่แสดงออกอย่างเหมาะสมกับวัย มีคุณธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความอดทนเสียสละเพื่อส่วนรวม สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีทักษะในการทำงาน มีสุนทรียภาพด้านศิลปะ ดนตรี และกีฬา ปฏิบัติตนตามหลักเบื้องต้นของสาสนา ตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาไทย และนำภูมิปัญญาไทยมาประยุกต์ใช้ รู้คุณค่า มีจิตสำนึก และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีสุขภาพแข็งแรง และจิตใจแจ่มใส






สรุปได้ว่า โรงเรียนดีมีคุณภาพควรเป็นโรงเรียนที่ได้พัฒนาตนเองให้มีคุณภาพตามมาตรฐานด้วยกระบวนการที่หลากหลายตามบริบท ทรัพยากรและศักยภาพที่โรงเรียนมีอยู่ โดยการจะพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนดีมีคุณภาพต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ประชาชน และหน่วยงานองค์กรในท้องถิ่น โรงเรียนควรมีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายของโรงเรียนให้ชัดเจน และดำเนินงานตามทิศทางที่โรงเรียนกำหนดไว้ ซึ่งมุ่งไปที่นักเรียน คือ สอนให้เป็นคนดีมีปัญญา มีศีล สมาธิ และมองภาพให้เกิดในอนาคตร่วมกัน กำหนดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน

นอกจากนี้ การพัฒนาบุคลากรยังเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน เพราะบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูเป็นคนสำคัญที่จะสร้างกลไกต่างๆ ให้เกิดขึ้น ที่จะส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียน โดยต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนบรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตรได้กำหนดไว้ และในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ อดทน เจ้าใจนักเรียน เป็นผู้ให้ข้อมูลและผู้สนับสนุนจากการทำกิจกรรมตามที่นักเรียนสนใจ


โดย โดยสุดาวรรณ เครือพานิช
ที่มาข้อมูล : สุดาวรรณ เครือพานิช วารสารวิชาการ ปีที่ 9 ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม 2549