จังหวัดปัตตานี – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “ห้องเรียนอาชีพ” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2560 ณ หอประชุมโรงเรียนราชมุนีรังสฤษฎ์ อำเภอโคกโพธิ์ โดยมีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) และนายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมบันทึกลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือโครงการห้องเรียนอาชีพในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ตามความถนัดและความสนใจให้แก่เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยการจัดการเรียนการสอนแบบทวิศึกษา เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในการเข้าสู่การศึกษาระดับอาชีวศึกษา และเป็นทางเลือกสำหรับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความประสงค์จะเรียนควบคู่ไปกับหลักสูตรสายอาชีพ เพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในสาขาวิชาร่วมที่กำหนด โดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะได้เรียนรู้และฝึกทักษะ ด้วยการฝึกงานจริงในช่วงปิดภาคเรียน ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่ดี
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาอาชีวศึกษา และหน่วยงานเอกชน รวมทั้งเครือข่ายประชาชนในการร่วมกันจัดการเรียนการสอน การฝึกประสบการณ์ และพัฒนากำลังคนให้มีความรู้พื้นฐาน รวมถึงทักษะด้านอาชีพ พร้อมคุณภาพและคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร กล่าวว่า สพฐ.ได้ดำเนินโครงการห้องเรียนอาชีพ ปีการศึกษา 2560 เพื่อต้องการส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความถนัดและความสนใจต้องการจะเรียนต่อสายอาชีพได้รับการพัฒนา โดยเน้นการฝึกทักษะประสบการณ์เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพเรียนจบแล้วมีอาชีพรองรับทันที สามารถสร้างอาชีพให้สอดคล้องกับศักยภาพในพื้นที่ได้ ด้วยการเริ่มดำเนินการกับโรงเรียนในพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่
โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม จังหวัดนราธิวาส สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 เปิดรับ 3 สาขา ได้แก่ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ช่างเชื่อมโลหะ และคหกรรม รวม 3 ห้อง เปิดรับนักเรียนห้องละไม่เกิน 30 คน
โรงเรียนเบตง “วีระราษฎร์ประสาน” จังหวัดยะลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 เปิดรับ 2 สาขา ได้แก่ การโรงแรม และคหกรรม รวม 2 ห้อง เปิดรับนักเรียน ห้องละไม่เกิน 30 คน
โรงเรียนราชมุนีรังสฤษฎ์ จังหวัดปัตตานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 เปิดรับ 2 สาขา ได้แก่ ช่างเชื่อม และคอมพิวเตอร์ธุรกิจ รวม 2 ห้อง เปิดรับนักเรียนห้องละไม่เกิน 30 คน
โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ จังหวัดเชียงราย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 เปิดรับ 3 สาขา ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมการเกษตร ช่างก่อสร้างและช่างไฟฟ้ากำลัง จำนวน 3 ห้อง เปิดรับนักเรียนห้องละไม่เกิน 30 คน
โรงเรียนแม่จันวิทยาคม จังหวัดเชียงราย สงกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 เปิดรับ 3 สาขา ได้แก่ สาขาอาหารและโภชนาการ ช่างไฟฟ้ากำลัง และพืชศาสตร์ จำนวน 3 ห้อง เปิดรับนักเรียนห้องละไม่เกิน 30 คน
โรงเรียนสรรพวิทยาคม จังหวัดตาก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 38 เปิดรับ 2 สาขา ได้แก่ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการบัญชี จำนวน 2 ห้อง เปิดรับนักเรียนห้องละไม่เกิน 30 คน

ทั้ง 6 โรงเรียนดังกล่าว ถือเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่สามารถเปิดสอนอาชีพที่มีความสอดคล้องกับบริบทอาชีพในพื้นที่ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดที่ได้รับการประกาศจากรัฐบาลให้เป็นพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน (นราธิวาส ยะลา และปัตตานี) และจังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (เชียงราย ตาก) โดยแต่ละโรงเรียนได้มีการประสานงานและวางแผนการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนอาชีพ ร่วมกันกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาในแต่ละพื้นที่โดยมีการส่งเสริมความรู้พื้นฐานทางด้านการบริหารจัดการ การบริหารธุรกิจขั้นพื้นฐาน (Basic Modern Business Administrative : BMBA) ทักษะอาชีพที่สนใจ และสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เติมกระบวนการแนะแนวแบบเข้ม และการเพิ่มพูนประสบการณ์ด้วยการฝึกงานจริงในช่วงปิดภาคเรียน ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่ดี
เมื่อสำเร็จการศึกษา ผู้เรียนจะได้รับวุฒิการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และวุฒิการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ใน 9 สาขา ได้แก่ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การบัญชี คหกรรม การโรงแรม ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างก่อสร้าง พืชศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร และช่างเชื่อมโลหะ
โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ได้รับสมัครนักเรียนและมีนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเรียน รวมจำนวนทั้งสิ้น 310 คน ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากห้องเรียนอาชีพสามารถนำความรู้และทักษะอาชีพ ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และประกอบอาชีพที่กำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจบริการภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และเป็นกำลัง สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการห้องเรียนอาชีพในครั้งนี้ มีผู้บริหารจากส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ นายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ,นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต, นายปราโมทย์ แก้วสุข ที่ปรึกษาสำนักปลัดกระทรวง ด้านการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา เขต 15-16 รวมทั้งคณะผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียน เข้าร่วมพิธีลงนามในครั้งนี้
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ขอบคุณภาพถ่าย: etvMAC
และพงศ์สัณห์ อุ่นอก สพป.ปัตตานี เขต 1
1/6/2560