แผนขับเคลื่อนการศึกษา จชต.

ศธ.ประชุมเตรียมแผนดำเนินงานพัฒนาการศึกษา จชต.




คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนบูรณาการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมเตรียมแผนดำเนินงาน 3 โครงการสำคัญในเดือนธันวาคมนี้ คือ โครงการด้านการรักษาความปลอดภัย งานชุมนุมลูกเสือ และการแข่งขันกีฬา พร้อมทั้งเตรียมดำเนินงานโครงการสานฝันการกีฬาฯ ระยะที่ 3 โดยจะเพิ่มเติมอีก 2 จังหวัดที่ยะลาและปัตตานี และย้ำถึงการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ขอให้คำนึงถึงเป้าหมายตามแผนงานที่วางไว้ทั้ง 127 โครงการ ภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรร 2,777 ล้านบาท ในจุดเน้น 7 ด้าน โดยจะมีการประเมินผลการทำงานทุก ๆ 3 เดือน



เมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม : พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนบูรณาการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 6/2559 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้


l เตรียมดำเนินงาน 3 โครงการสำคัญ ภายในเดือนธันวาคมนี้


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้เห็นชอบกรอบแนวทางการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามจุดเน้น 7 ประเด็น คือ 1) การรักษาความปลอดภัย 2) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 3) การสร้างโอกาสทางการศึกษา 4) การผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่และการมีงานทำ 5) การศึกษาเพื่อความมั่นคง 6) การสร้างการรับรู้ 7) การบริหารจัดการศึกษา


คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนบูรณาการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ประชุมเพื่อเตรียมดำเนินงานใน 3 โครงการสำคัญ ภายในเดือนธันวาคม 2559 ดังนี้




  • โครงการด้านการรักษาความปลอดภัย (ตามจุดเน้นที่ 1 การรักษาความปลอดภัย) โดยร่วมกับผู้แทนฝ่ายความมั่นคงในการจัดประชุมผู้บริหารระดับจังหวัดและอำเภอเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยครู เนื่องจากความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด



  • กิจกรรมลูกเสือ (ตามจุดเน้นที่ 5 การศึกษาเพื่อความมั่นคง) โดยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนใต้, ลูกเสืออาเซียน, เยาวชนสานสัมพันธ์ลูกเสือ กศน. ชายแดนใต้, ชุมนุมลูกเสืออาชีวะจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น โดยขอให้คณะทำงานพิจารณาว่างานชุมนุมลูกเสือแต่ละครั้งนั้น สามารถดำเนินการพร้อมกันได้หรือไม่ โดยเน้นกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย



  • กิจกรรมกีฬา (ตามจุดเน้นที่ 5 การศึกษาเพื่อความมั่นคง)  จะมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การแข่งขันกีฬานักเรียนชายแดนใต้, การแข่งขันกีฬาอาชีวะเกมส์ชายแดนใต้, กีฬาสานสัมพันธ์ชายแดนใต้ เป็นต้น



l เตรียมดำเนินงานโครงการสานฝันการกีฬาฯ ระยะที่ 3


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือการเตรียมความพร้อมโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 3 ซึ่งในเบื้องต้นได้ทำการสำรวจความประสงค์เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนรุ่นแรกของโครงการที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.5 ในโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ จ.นราธิวาส  และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ยะลา พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 80.64 ต้องการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่เหลือร้อยละ 19.36 ต้องการศึกษาต่อสายอาชีพในสถานศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานหารือกับ สกอ./สอศ. หาแนวทางเชื่อมต่อให้นักเรียนเข้าศึกษาต่อต่อไป


นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ได้เตรียมขยายผลโครงการสานฝันการกีฬาฯ ไปยังสถานศึกษาในจังหวัดยะลาและปัตตานี จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ปกครองและนักเรียนโดยไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปเรียนในจังหวัดอื่น พร้อมทั้งขอให้เตรียมแผนประชาสัมพันธ์ในการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2560 อย่างทั่วถึง และการคัดเลือกต้องอิงมาตรฐานที่เคยดำเนินการมา ตลอดจนเตรียมการวางแผนในการจ้างครูผู้ฝึกสอนและครูประจำหอพักแต่เนิ่น ๆ ด้วย  เพราะจะเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณด้วย


สำหรับแนวทางการดำเนินงานด้านอื่น ๆ นั้น จะมีกิจกรรมเปิดโลกทัศน์ในช่วงปิดเทอมให้กับนักเรียนในโครงการสานฝันการกีฬาฯ ร่วมกับนักเรียนโครงการห้องเรียนกีฬา จังหวัดกระบี่ มหาสารคาม และสุโขทัย พร้อมทั้งมีแนวทางจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นกองทุนในการสนับสนุนครูผู้ฝึกสอนและบุคลากรทางการศึกษาของโครงการสานฝันการกีฬาฯ ในอนาคต



พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ขอให้คำนึงถึงเป้าหมายและจุดเน้นตามแผนงานที่วางไว้ทั้ง 127 โครงการ ภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรร 2,777 ล้านบาท ในจุดเน้น 7 ด้าน โดยจะมีการประเมินผลการทำงานทุก ๆ 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี จึงขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป



อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
21/11/2559