จังหวัดฉะเชิงเทรา – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดงานมหกรรมแนะนำการศึกษาต่ออาชีวศึกษา “รวมพลัง สร้างคน สร้างงาน : แปดริ้วโมเดล” (PADRIEW Model) พร้อมทั้งร่วมเสวนาวิชาการ เรื่อง “การศึกษาเพื่อการมีงานทำ” โดยมี ดร.อกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดร.อ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ครู และบุคลากรอาชีวศึกษา ภาคเอกชน สถานประกอบการ นักเรียน และผู้ปกครอง เข้าร่วมจำนวน 1,500 คน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
รมว.ศธ.กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันประเทศต้องการบุคลากรที่มีทักษะฝีมือเพื่อพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในโลก ที่กำลังต้องการการพัฒนาประเทศโดยผู้ที่มีความรู้และทักษะฝีมือ แต่ในหลายประเทศและประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน กล่าวคือ สามารถผลิตบุคลากรที่มีทักษะได้น้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดและสังคม จึงเกิดการจัดงานในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคการผลิตกับผู้ที่มีหน้าที่จัดการศึกษา เพื่อหาทางสร้างบุคลากรอย่างเพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ คือ ผลิตคนที่ตรงกับความต้องการของประเทศ และมีคุณภาพที่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้
ในส่วนของ ศธ.มีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมดำเนินการกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อวางแผนการผลิตคน โดยเริ่มตั้งแต่สำรวจความต้องการในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ กำหนดหลักสูตร เนื้อหา การฝึกอบรม และการทดสอบวัดผล รวมทั้งจะนำระบบกรอบคุณวุฒิแห่งชาติมาใช้ มีการสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษาที่ดี ให้เป็นที่นิยมของสังคมมากขึ้น เพื่อให้การเรียนอาชีวศึกษา นอกจากจะมีงานทำแล้ว ยังมีรายได้ที่ดี และเป็นบุคลากรที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมด้วย
ดังนั้น หากการพัฒนาบุคลากรเป็นไปในทิศทางนี้ เชื่อว่าจะสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการของประเทศมากขึ้น สร้างความเจริญและรายได้ให้กับประชาชนในชาติ ซึ่ง สอศ. และ สพฐ.จะต้องหาแนวทางสร้างหลักประกันทางอาชีพให้แก่นักเรียนนักศึกษา จัดแสดงและให้ความรู้ข้อมูลในรูปแบบของการจัดงานแนะแนวการศึกษาเช่นนี้ต่อไป เพื่อให้นักเรียนนักศึกษานำความรู้และข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจด้านการศึกษาในภายภาคหน้า ซึ่งการเรียนสามารถเรียนได้หลายช่องทาง หากนักเรียนนักศึกษามีข้อมูลมาก ก็จะสามารถตัดสินใจเรียนในสิ่งที่สอดคล้องกับความถนัดและความสามารถของตนเองได้มากที่สุด
รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.moe.go.th/websm/2014/feb/042.html