ศึกษาธิการ
เห็นชอบอนุมัติอัตรากำลังเพิ่มใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ประธานกรรมการเสนอ ดังนี้
1. ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 (เรื่อง การขอสนับสนุนนโยบายการโอนย้ายข้าราชการจากส่วนราชการอื่นมารับราชการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ซึ่งอนุมัติในหลักการให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีวิทยาเขตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) สามารถใช้อัตราข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ว่างลงจากการเกษียณอายุและอัตราว่างโดยเหตุอื่น เพื่อรองรับการโอนย้ายข้าราชการต่างประเภทจากส่วนราชการอื่นมาเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะตัว โดยต้องปฏิบัติงานในตำแหน่งวิชาการซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัยเท่านั้น
2. ในส่วนกรอบอัตรากำลังเพิ่มใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2560 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์นั้น เห็นสมควรให้การสนับสนุนอัตรากำลังเพิ่มใหม่ตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นกรณีพิเศษ จำนวน 150 อัตรา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์) ไปดำเนินการเกลี่ยอัตรากำลังให้เป็นสายผู้สอนและสายสนับสนุนตามความจำเป็นและเหมาะสม
3. ให้กระทรวงศึกษาธิการ (มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)) และ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ไปพิจารณาดำเนินการปรับปรุงค่าตอบแทน สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ รวมทั้งความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ของพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีวิทยาเขตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนและสามารถดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้ในระบบ ภายใต้ความจำเป็นตามภาระงานของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ต่อไป
เห็นชอบให้เลขาธิการอาเซียนลงนามในข้อตกลงทางการเงิน (FA)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่ ศธ.เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) ข้อตกลงทางการเงิน (Financial Agreement Special Edition – FA) ภายใต้โครงการ EU Support to Higher Education in ASEAN Region (EU SHARE) และภาคผนวก และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ ศธ. ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. อนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนลงนาม ใน (ร่าง) FA ภายใต้โครงการ EU SHARE ในฐานะผู้ลงนามฝ่ายอาเซียน
3. อนุมัติให้ ศธ. แจ้งเรื่องการให้ความเห็นชอบของไทยต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน โดยดำเนินการผ่านกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา
สาระสำคัญของเรื่อง ศธ.รายงานว่า อาเซียนและสหภาพยุโรปสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นเวลากว่า 40 ปี (พ.ศ. 2515–2556) และได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และลึกซึ้งในทุกมิติโดยสหภาพยุโรปให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในฐานะเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาระดับภูมิภาค และได้ริเริ่มโครงการ EU Support to Higher Education in ASEAN Region (EU SHARE) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหภาพยุโรปและอาเซียนในฐานะที่เป็นองค์กรเหนือชาติ (Supra – National Organization) พร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนามาตรฐานการอุดมศึกษาในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการใช้กระแสการเคลื่อนย้ายเสรีให้เป็นโอกาสในการเพิ่มพูนขีดความสามารถของทรัพยากรบุคคลให้ดำรงอยู่ในเวทีโลกได้อย่างมั่นคง
โดยสหภาพยุโรปกำหนดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นเงินทั้งสิ้น 10,300,000 ยูโร (แบ่งเป็นเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป 10,000,000 ยูโร และจากแหล่งเงินทุนอื่น 300,000 ยูโร) พร้อมระบุกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ 1) การจัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาการอุดมศึกษาของอาเซียน 2) การพัฒนากรอบคุณวุฒิและการประกันคุณภาพการศึกษาในภูมิภาค และ 3) การพัฒนาระบบการถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างประเทศในอาเซียนและยุโรป ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนจะให้การสนับสนุนด้านอาคารสถานที่พร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับจัดตั้งสำนักงาน รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประสานดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ต้องสนับสนุนทางการเงินแต่ประการใด
สรุป/รายงาน
19/11/2556