พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จากนโยบายสู่การปฏิบัติ จัดโดยกองส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการศึกษาในภูมิภาค สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (กสภ.) ระหว่างวันที่ 27 – 29 กันยายน 2566 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี โดยมี นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
รมว.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายที่จะปฏิรูปด้านการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ นั่นคือการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ให้สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยมีจุดเน้น 2 เรื่อง คือ นโยบายที่เน้นหนักในการทำงาน ได้แก่ การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครู สนับสนุนครูคืนถิ่น แก้ไขปัญหาหนี้สินครู จัดสรร 1 ครู 1 Tablet ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ
ส่วนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ การลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จัดหา 1 Tablet ให้ 1 นักเรียน มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) มีการบันทึกเทประหว่างการสอน เปิดโอกาสให้นักเรียนมาทบทวนบทเรียนซ้ำ มีการจัดตั้ง 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ นำร่องพัฒนาโรงเรียนคุณภาพในทุกพื้นที่ จัดสรรการแนะแนวการเรียน (Coaching) แนะเป้าหมายชีวิต จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมและได้ประกาศนียบัตร เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคตได้ ส่งเสริมนักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ลดอัตราเด็กจบใหม่ว่างงาน เรียนจบแล้วมีงานทำ
“ขอฝากฝังให้บุคลากรทางการศึกษามีการบูรณาการหลักสูตรทางวิชาการในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้ผู้เรียนสนุก มีความสุขกับการเรียน และมีการบูรณาการนิทรรศการต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของสื่อวิดิทัศน์ ทำให้เข้าใจง่าย และน่าสนใจยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขอชื่นชมครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายที่ได้ให้ไว้ การที่นักเรียนสามารถถ่ายทอดความรู้ในการจัดนิทรรศการต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า การขับเคลื่อนงานตามแนวปฏิบัตินี้ ทำให้นักเรียนเข้าใจหลักสูตร ส่งผลให้ “เรียนดี” และ เรียนอย่าง “มีความสุข” ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา “จับมือไว้ และไปด้วยกัน” รมว.ศธ. กล่าวในตอนท้าย
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในตอนหนึ่งว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ มุ่งเน้นที่จะสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการนำทิศทางและนโยบายด้านการศึกษามาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม (Action Plan) ทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนการดำเนินงานที่มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ดังจะเห็นได้จากการแสดงผลงานทางวิชาการและนิทรรศการนวัตกรรมทางการศึกษาที่หลากหลาย อาทิ โครงการ Innovation For Thai Education (IFTE) และโครงการอาสาสมัคร ศธ. เพื่อลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง
สุวิชา บุญญานุพงศ์: สรุป/กราฟิก
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ
ชัยสิทธิ์ ยังชีพยืนอยู่ดี: คลิป
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
1/10/2566