นักประดิษฐ์เยาวชน จากโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (SATIT PIM) ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้นำผลงานด้านนวัตกรรมไปร่วมแข่งขันในงานสิ่งประดิษฐ์และผลงานนวัตกรรมระดับโลก ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส พร้อมคว้า 2 รางวัล แห่งความภาคภูมิใจ ในเวที “The 47th International Exhibition of Inventions Geneva 2019” ซึ่งเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดของโลก จัดโดย สมาพันธรัฐสวิสและองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO)
นับเป็นความสำเร็จของทีมนักประดิษฐ์ โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่มีผลงานโดดเด่นระดับโลก คว้า 2 รางวัล ในประเภท Commercial, Industrial and Office Equipment ประกอบด้วย รางวัล Bronze Medal และรางวัล Special Prize from Inventions Hong Kong ในชื่อผลงาน “หุ่นยนต์ลำเลียงวัสดุอัตโนมัติสำหรับระบบการผลิตแบบยืดหยุ่น” (Automated Guided Cart for Flexible Manufacturing System) โดยการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติในครั้งนี้ มีนักวิจัย และนักประดิษฐ์ส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 1,000 ผลงาน จาก 40 ประเทศทั่วโลก
อาจารย์จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ที่ปรึกษารัฐมมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา และที่ปรึกษาโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า “การนำนักเรียนเข้าร่วมการประกวดผลงานนวัตกรรมระดับโลกครั้งนี้ เพราะทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับการสนับสนุนพัฒนานักเรียนด้านนวัตกรรมตามความสามารถและความสนใจของแต่ละคน จึงได้จัดตั้งชมรม Innovation Maker ขึ้น โดยร่วมกับ ดร.ธันวัตร สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พร้อมอาจารย์ฝีมือระดับประเทศหลายท่านมาช่วยอบรมพัฒนาในด้านการสร้างสิ่งประดิษฐ์ และคัดเลือกตัวแทนนักเรียน 3 คน เข้าร่วมนำเสนอผลงาน จนคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ”
ตัวแทนนักเรียน 3 คน ที่คว้ารางวัลจากเวทีระดับโลก ได้กล่าวถึงความรู้สึกในครั้งนี้ว่า
คนแรก ด.ช.อภิภูมิ ชื่นชมภู ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผู้เขียนโปรแกรมในการประกวดครั้งนี้เล่าว่า “แนวทางการสอนของโรงเรียนผลักดันให้ตัวเองได้ค้นพบในสิ่งที่ชอบ ที่ถนัด และกล้าแสดงออก ทำให้นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจ และขอบคุณครูทุกคนที่ทำให้ผมมีวันนี้ ได้เรียนรู้ว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความพยายามและสนใจใฝ่หาความรู้ในสิ่งที่เราบอกว่าชอบจริงๆ ถ้ารู้ว่าชอบแล้วก็ต้องพัฒนาต่อไปอย่าละทิ้งความฝัน ซึ่งอาชีพในฝันคือ โปรแกรมเมอร์ และดีเวลลอปเปอร์”
คนที่สอง ด.ช.ณพสัญญ์ จีระวัฒนะนนท์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผู้ดูแลส่วนฮาร์ดแวร์ รูปร่างและส่วนประกอบของผลงานการประกวดครั้งนี้เล่าถึงความรู้สึกว่า “ประทับใจการไปประกวดครั้งนี้มากนอกจากได้ประดิษฐ์ผลงานกับเพื่อนๆ ยังได้ใช้ทักษะด้านภาษา และภายในงานมีผลงานสิ่งประดิษฐ์น่าสนใจให้ได้ศึกษาหลากหลายด้าน อนาคตอยากศึกษาต่อด้านวิศวะเครื่องกล และ หุ่นยนต์”
คนที่สาม ด.ญ.ภิญฐ์สิตา เนียมอินทร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผู้ดูแลอะไหล่ ส่วนประกอบจาก 3D Printing และ Laser cut เล่าประสบการณ์ครั้งนี้ว่า “ได้รู้จักกับเพื่อนๆนักประดิษฐ์ จากโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งไทยและต่างชาติ ที่สำคัญได้เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเพียงแค่อากาศหรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนไปก็มีผลต่อสิ่งประดิษฐ์ และการประกวดประดิษฐ์ครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความฝันด้วย เพราะอนาคตอยากศึกษาต่อด้านวิศวะ”
SATIT PIM มุ่งจัดการศึกษาด้วยหลักการ Active Learning ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และลงมือทำกิจกรรม (Learning by doing) ภายในและภายนอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่คงทน ให้นักเรียนมีความรู้และทักษะพื้นฐานความคิดเชิงนวัตกรรม พัฒนาให้เป็นนักประดิษฐ์ นักคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถผลิต คิดค้นนวัตกรรม พร้อมการจัดโอกาสและประสบการณ์ ต่อยอดไปสู่การส่งผลงานเข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์ทั้งในเวทีระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ผสมผสานการเป็น “นักจัดการ” อย่างต่อเนื่อง จนเห็นเป็นรูปธรรม
ที่มา : ข่าวการศึกษาบ้านเมือง