เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2562 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ครั้งที่ 7/2562 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และสื่อมวลชน ให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่รับฟังความต้องการและปัญหาการทำงานของการจัดการศึกษาเอกชน ทำให้ได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของครูเอกชนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลครูเอกชนมีเพดานอยู่ที่ 100,000 บาท ส่งผลให้ครูเอกชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น ได้รับความเดือนร้อนเพราะเป็นโรคที่มีค่ารักษาที่สูง ครูจึงต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเกินกว่าที่เพดานกำหนด ทำให้ครูบางส่วนตัดสินใจลาออกเพื่อไปใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ากระทบต่อขวัญกำลังใจของครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งควรจะต้องมีมาตรฐานวิชาชีพเช่นเดียวกับข้าราชการครู
ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติปรับเพิ่มเพดานค่ารักษาพยาบาลครูเอกชนจากเดิม ปีละ 100,000 บาท เป็น 150,000 บาทต่อปี มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 สำหรับครูที่ลาออกไปใช้สิทธิสวัสดิการบัตรทอง ก็สามารถขอกลับเข้ามาใช้สิทธิของกองทุนฯ ได้
นายประสงค์ ชาญวิทย์การ ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ กล่าวว่า เดิมกองทุนฯ มีการขาดทุนสะสม และในเดือนกันยายน ปี 2562 คาดว่าจะขาดทุน 25 ล้านบาท แต่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีเงินที่รัฐบาลให้การสนับสนุนปีละ 1,400-1,600 ล้านบาท ซึ่งจากเดิมกองทุนฯ จะขอเบิกจ่ายจาก สช. เป็นรายเดือน แต่จากนี้จะขอให้ สช. โอนเงินดังกล่าวมาให้กองทุนฯ บริหารจัดการเอง ทั้งนี้ กองทุนฯ มีแผนจะนำไปลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะได้ผลกำไรคืนประมาณ 3% หรือ 25 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำดอกผลที่ได้มาเป็นสวัสดิการให้กับครูเอกชนต่อไป
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง/กราฟิก
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน