เด็กไทย ไม่แพ้ใครในโลก

เด็กไทย ไม่แพ้ใครในโลก ด้วย Digital Content


อาคารจามจุรี สแควร์ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการ “เด็กไทย ไม่แพ้ใครในโลก ด้วย Digital Content” และเป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการรวมพลังภาคประชาชนสนับสนุนการสร้างสื่อการสอนและการเรียนรู้แห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2556 ณ ห้องประชุมชั้น 16





  • ความร่วมมือของโครงการ “เด็กไทย ไม่แพ้ใครในโลก ด้วย Digital Content
    ที่เป็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วน


รมว.ศธ.กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่เกิดจากการที่ผู้ห่วงใยเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ต้องการที่จะเห็นการศึกษาของไทยพัฒนาก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งต้องการส่งเสริมให้เด็กไทยเรียนรู้ได้ทันยุคสมัย ในโลกที่มีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาและการสื่อสารกันอย่างกว้างขวาง


คณะผู้จัดทำโครงการดังกล่าว ซึ่งมาจากทุกภาคส่วนของสังคม จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการและออกแบบกิจกรรมต่างๆ ในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการรวมพลังภาคประชาชนให้มีการสนับสนุนการสร้างสื่อการสอน และการเรียนรู้แห่งชาติ (Thailand Digital Education Content Kick Off Campaign) เพื่อให้เด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ รวมทั้งกระบวนการศึกษา สอดคล้องกับยุคสมัยของโลกที่ไร้พรมแดน โดยมีเครือข่ายร่วมสนับสนุนโครงการ “เด็กไทย ไม่แพ้ใครในโลก ด้วย Digital Content ทั้งจากภาคสังคม ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ภาคการเงินการธนาคาร และภาคส่วนอื่นกว่า 90 หน่วยงาน เพื่อเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สื่อในรูปแบบ Digital ที่เข้าไปอยู่ในสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้น ทุกภาคส่วน รวมทั้งครอบครัว


ความจำเป็นจะต้องมีการลงทุนทางด้านการศึกษา


ประการสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา คือ จำเป็นจะต้องมีการลงทุนทางด้านการศึกษา ซึ่งหลายประเทศชั้นนำของโลกที่ลงทุนในเรื่องการศึกษามาก ก็จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ลงทุนทางด้านการศึกษา เช่น ทำให้ส่งออกเทคโนโลยีที่มีคุณภาพราคาต่ำ หรือสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่ามีจุดอ่อนมากทางด้านการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งส่งผลถึงผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานที่มีคุณภาพต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำของโลก เพราะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ไม่ทัน (catch up) ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เคยเกาะกลุ่มเศรษฐกิจใกล้ๆ กัน ตอนนี้เปลี่ยนไป ในขณะที่บางประเทศซึ่งต่ำกว่าไทยมากๆ ก็ไล่มาในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น ดังนั้นการลงทุนทางด้านการศึกษาจึงมีผลสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของคนในประเทศด้วย




  • โลกปัจจุบันมีข้อมูลใหม่เกิดขึ้นทุก 60 วินาที


นอกจากนี้ โลกปัจจุบันมีข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ในทุกๆ 60 วินาที เพราะมีการใช้ Twitter Facebook หรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกันอย่างรวดเร็ว มีแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการเรียนรู้ในอาชีพต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากมายเช่นกัน  บางบริษัทมีมากถึง 2 แสนกว่าแอพพลิเคชั่น หรือเป็นแอพพลิเคชั่นทางด้านการศึกษาถึง 7 หมื่นกว่าแอพพลิเคชั่นในบริษัทเดียว


สิ่งสำคัญคือ เราจะให้เด็กๆ หรือคนของเราได้ใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้อย่างไร ให้เด็กสนใจและขวนขวายที่จะเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ได้เรียนในสิ่งที่ควรจะเรียนรู้ผ่านเนื้อหาที่หลากหลายด้วย Digital Content




  • ตัวอย่างของ Digital Content ที่นำมาใช้เพื่อการศึกษา


รมว.ศธ.ได้ยกตัวอย่างถึงการนำเสนอเนื้อหาว่า Digital Content ในปัจจุบัน อาจเรียนรู้ได้จากของจริง เช่น การเรียนวิชาเคมี ไม่จำเป็นต้องให้เด็กท่องจำสูตรหรือสมการเหมือนสมัยก่อน แต่สามารถให้เด็กเห็นสาร 2 ชนิดทำปฏิกิริยากัน เห็นว่าการปรับเปลี่ยนโมเลกุลเป็นอย่างไร น้ำและคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอย่างไร เด็กสามารถเอากล้องมาส่องดูได้ และสรุปเป็นสมการได้จากของจริง โดยไม่จำเป็นต้องให้เด็กท่องจำสมการเหล่านั้น


นอกจากนี้ อาจเรียนรู้ได้จากชีวิตจริง ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากข่าวสารข้อมูล เช่น การเกิดพายุ หรือเหตุการณ์ต่างๆ หากเป็นสมัยก่อนเราเรียนลมบก ลมทะเล ก็ได้แต่จำหรือทำความเข้าใจ แต่เนื้อหาการเรียนการสอนสมัยใหม่ จะแสดงให้เด็กเห็นเป็น Animation มีภาพชาร์ตให้ดูถึงสาเหตุของการเกิดพายุและการเคลื่อนตัวของพายุ เป็นต้น




  • ควรมีแผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษา
    เน้น  4 ด้าน คือ Connectivity – Content – Teacher – Hardware


รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงวิธีการ (Action) ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาใช้เพื่อการศึกษาว่า อาจมีการจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อกำหนดแผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษา (Masterplan for Education) ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้านที่สำคัญ คือ Connectivity – Content – Teacher – Hardware


ในเรื่องนี้ รมว.ศธ.อธิบายว่า บางประเทศได้มีการวางเป้าหมายให้ปี 2020 เป็นปีแห่ง PC Infrastructure Complete คือ มีการวางโครงสร้างพื้นฐานทาง ICT เพื่อการศึกษาที่สมบูรณ์ แต่ของไทยที่ผ่านมามีเฉพาะการวางแผนการวางระบบ Wi-fi และเครือข่ายความเร็วสูงไปถึงโรงเรียนและทุกบ้านกันเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนของฮาร์ดแวร์ (Hardware) และการเชื่อมโยงเข้าสู่อินเทอร์เน็ต (Connectivity) ยังไม่ได้ดำเนินการตาม 4 ส่วนที่สำคัญดังกล่าว โดยเฉพาะเนื้อหา (Content) ที่จะต้องคิดร่วมกันว่า ผู้เรียนควรเรียนอะไร และเรียนอย่างไรให้สอดคล้องกับหลักสูตร และในขณะนี้เรายังห่างไกลกับการใช้ Content ครบทุกชั้นทุกรายวิชา และ Content ที่มีอยู่ก็ยังมีมาตรฐานในจำนวนไม่มากนัก ในขณะที่หลายประเทศชั้นนำมีองค์กร หน่วยงาน หรือมูลนิธิที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลพัฒนาเนื้อหา วิธีเรียน วิธีสอนด้วย ICT โดยเฉพาะ


ในส่วนของความพร้อมของครู (Teacher) ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทและวิธีการสอน เพราะหากครูสอนโดยตั้งคำถามไม่ถูก ก็เหมือนจะเป็นการวัดความสามารถของเด็กในการค้นหา (search) จากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่เด็กก็ยังขาดการเรียนรู้ด้วยการคิดวิเคราะห์ ดังนั้นครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทการสอน จากการบรรยาย มาเป็นผู้ตั้งคำถามที่กระตุ้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ ใช้วิธีสอนแบบใหม่ ซึ่งขณะนี้ ศธ. กำลังรวบรวมวิธีการสอนที่ประสบผลสำเร็จมาให้ครูด้วย เพราะบทบาทการสอนของครูเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ไม่ใช่เพียงให้ครูใช้เทคโนโลยีเป็น แต่ครูจะต้องเป็นผู้นำที่ฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้ ซึ่งในแผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษาของแต่ละประเทศก็ต้องครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ไว้ด้วย


ในส่วนของไทย ก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อส่งเสริมการผลิต วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งเพื่อสามารถใช้และรับเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มากขึ้น และช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของการศึกษาชาติ มีการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในการใช้ ICT เพื่อการศึกษา โดยเฉพาะ Content ที่ต้องร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนแบบ Digital ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น




  • ต้องตั้งเป้าหมายดำเนินการตามแผนแม่บท ICT ให้ชัดเจน


ดังนั้น การจัดทำแผนแม่บท ICT เพื่อการศึกษา นอกจากจะต้องนำ 4 ด้านที่สำคัญ คือ Connectivity – Content – Teacher – Hardware มาวางแผนพัฒนาดำเนินการแล้ว จะต้องมีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน อาจเป็นระยะ 5 ปี 7 ปี หรือ 10 ปี เพื่อที่จะให้ทราบว่า การศึกษาจะไปอยู่ตรงไหนในช่วงระยะเวลานั้นๆ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศอยู่รอดได้ในการแข่งขัน ส่งผลให้มนุษย์ได้รับการพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ โดย ศธ.พร้อมจะร่วมมือเพื่อช่วยกันพัฒนาการศึกษาของประเทศเราต่อไป




  • MOU เพื่อรวมพลังภาคประชาชนในการสร้างสื่อการสอนและการเรียนรู้แห่งชาติ


จากนั้น รมว.ศธ. ได้เป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการรวมพลังภาคประชาชนสนับสนุนการสร้างสื่อการสอนและการเรียนรู้แห่งชาติ โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.ร่วมในพิธีลงนามออนไลน์ผ่านแท็บเล็ต คือ ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ, ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นต้น


รมว.ศธ.กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การประสานความร่วมมือ การรวบรวม Digital Content โดยมีแนวคิดในบันทึกข้อตกลง 2 แนวคิด คือ 1) ร่วมกันสนับสนุน ผลักดัน และส่งเสริมให้มี Digital Content ในระบบการเรียนรู้ที่มีคุณภาพมาตรฐาน 2) ลักษณะความร่วมมือของภาคี ที่อาจจะส่งผู้แทนเข้าประชุม หารือ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น ประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยมี National Digital Education Content ในระบบการเรียนรู้ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และเป็นประโยชน์สูงสุดในกระบวนการศึกษาของผู้เรียนและประชาชนที่สนใจใฝ่หาความรู้โดยทั่วไป


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

7
/12/2556