เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย

ประชุมวิชาการ “เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย”

เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเสวนาเรื่อง “From NRU to WCU” (การพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ : National Research Universities สู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก : World Class University) ในการประชุมสัมมนาวิชาการเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ประจำปี ครั้งที่ 2 (The 2nd Annual Meeting : Research University Network) ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.วิชัย บุญแสง ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ รศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2559 ณ โรงแรมลองบีช การ์เด้น อำเภอบางละมุง

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 มหาวิทยาลัย 7 แห่ง คือ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมลงนามก่อตั้งเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network Thailand : RUN) ขึ้น โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะประสานความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมการวิจัยของเครือข่าย พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยในระดับภูมิภาค โดยมีคณะกรรมการเครือข่ายฯ เป็นคณะทำงานเพื่อการขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าว

สำหรับการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้มีผู้บริหารในเครือข่ายฯ และนักวิจัยใน 6 กลุ่มอาชีพ (Cluster) รวม 7 กลุ่ม คือ ด้านอาหารและเกษตร (Function Food และ Food and Agriculture), ด้านพลังงาน (Energy), ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการภัยพิบัติ (Disaster and Climate Change), ด้านสุขภาพ (Health), ด้านวัสดุขั้นสูง (Materials) และด้านอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) มานำเสนอความก้าวหน้าและผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือ เกิดการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยในระดับภูมิภาค รวมทั้งการให้ได้มาซึ่งโจทย์วิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก (From NRU to WCU) ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีคนว่างงานจำนวนมาก ในขณะเดียวกันต่างก็ขาดแคลนตำแหน่งงานที่ต้องใช้ทักษะและความชำนาญสูงเข้ามาทำงานเช่นกัน เรียกได้ว่ามีตำแหน่งงานว่างมากกว่าคนว่างงาน ซึ่งการเริ่มต้นดำเนินโครงการยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก นอกจากจะช่วยผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศทั้ง 6 คลัสเตอร์ แล้ว ยังจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Product) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งของการพัฒนาประเทศ และหากสามารถดำเนินโครงการได้สำเร็จ จะช่วยเพิ่มรายได้ของประชากรให้สูงขึ้นเป็นสองเท่า จากปัจจุบัน 6,000 บาทต่อคนต่อปี เป็น 12,000 บาทต่อคนต่อปี ที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง (Middle income) ด้วย


ศาสตราจารย์ ดร.วิชัย บุญแสง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (NRU) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษา การวิจัยของมหาวิทยาลัยไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยเมื่อเทียบกับระดับโลก  โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นเวลา 3 ปี จำนวนเงิน 9,450 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการวิจัยและพัฒนาอาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ประสบกับปัญหาเรื่องงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลที่ถูกปรับลดลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา จึงเห็นว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุน NRU อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นแค่เทศกาลเท่านั้น เพราะการเป็น NRU จะเป็นตัวกระตุ้นและผลักดันให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (WCU) ได้ต่อไป จึงมีข้อเสนอแนะว่ารัฐควรสนับสนุนงบประมาณให้มากขึ้นและต่อเนื่อง โดยอาจสนับสนุน NRU บางแห่งให้เป็น WCU, หรืออาจสนับสนุนทั้ง NRU และมหาวิทยาลัยเดิมบางแห่งให้เป็น WCU ก็ได้


รมช.ศึกษาธิการ ถ่ายภาพร่วมกับตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 7 แห่งที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาวิชาการ


รมช.ศึกษาธิการ ถ่ายภาพร่วมกับนักวิจัยใน 6 คลัสเตอร์ 7 กลุ่มของมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 7 แห่ง
ถ่ายภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี


นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
10/1/2559