เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส

การประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส


จังหวัดนราธิวาส – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2559 เพื่อเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่บริเวณที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการค้า การลงทุน และการเปิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community) โดยคณะรัฐมนตรีได้กำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยจำนวน 10 เขตพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดตาก สงขลา มุกดาหาร สระแก้ว ตราด เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย นครพนม และนราธิวาส เพื่อสร้างฐานการผลิตที่เชื่อมโยงกับอาเซียนและการพัฒนาเมืองชายแดน โดยมีการศึกษาเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ ทักษะ รวมถึงสมรรถนะในการทำงานและการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 พื้นที่ ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาหลักสูตร และสร้างกำลังคนที่เข้มแข็งตรงตามความต้องการของพื้นที่ สู่การยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้มีมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน

สำหรับจังหวัดนราธิวาส ได้รับการประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 กำหนดพื้นที่เป้าหมายรวม 5 ตำบล 5 อำเภอ คือ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ, ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองฯ, ตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก, ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ และตำบลโล๊ะจูด อำเภอแว้ง ทั้งนี้ การจัดการศึกษาเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสมีเป้าหมายสำคัญ คือ ความพร้อมด้านภาษา ทักษะอาชีพ ความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่สงบสุข โดยมีแนวทางการจัดการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการและเป้าหมายในพื้นที่ ได้แก่ การจัดการศึกษาที่ฝึกทักษะด้านภาษา การจัดการศึกษาที่พัฒนาทักษะอาชีพ การจัดการศึกษาที่พัฒนาด้านเทคโนโลยี การจัดการศึกษาที่พัฒนาทักษะด้านอุตสาหกรรม การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้กับสถานประกอบการ และการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาด้านการเกษตร นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีคุณลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ ความมีวินัย ความขยัน ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ ความสามารถในการทำงานเป็นทีม และการมีจิตสาธารณะ

สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนงานและพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในพื้นที่ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรองผู้ว่าจังหวัดนราธิวาส ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารการศึกษา ผู้แทนภาคเอกชน ฝ่ายความมั่นคง (ทหาร) ภาคประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง โดยในการประชุมได้มีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในพื้นที่ นำเสนอหลักสูตรสำหรับเตรียมการผลิตกำลังคนตามความคาดหวังของภาคเศรษฐกิจและสังคมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส รวมถึงการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ พร้อมทั้งมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพื้นที่อีกด้วย

พื้นที่จังหวัดนราธิวาส ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบบูรณาการจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่หรือเรียกว่า “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนในมิติต่างๆ ให้มีความก้าวหน้า โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการดำเนินงานเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง ตามแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ สอดรับตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล คือ “คนไทยมีศักยภาพพร้อมอยู่ในประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ” ด้วย 6 ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่สำคัญ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายพัฒนาแผนให้สอดคล้องกันและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ พัฒนาคุณภาพและนำสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ภายในเดือนสิงหาคม 2559 ได้กำหนดให้ผู้แทนจังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 เขต ร่วมกันระดมความคิดเห็น นำเสนอผลการปฏิบัติ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปต่อยอดดำเนินงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนบรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพที่สูงขึ้น สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่และการพัฒนาประเทศโดยรวม


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ขอบคุณข้อมูลและถ่ายภาพ : คณะทำงาน รมช.ศธ.
22/7/2559