จังหวัดอุดรธานี – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมมอบ นโยบายเกี่ยวกับขอบเขตความรับผิดชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนากว่า 700 คน เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 ณ โรงแรมเซ็นทารา อำเภอเมืองอุดรธานี
รมว.ศธ.กล่าวตอนหนึ่งว่า บทบาทของ อ.ก.ค.ศ.มีความสำคัญมาก เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา รวมทั้งประสิทธิภาพ ขวัญกำลังใจในการทำงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีผลโดยตรงถึงความสำเร็จของการบริหารจัดการของหน่วยงานในเขตพื้นที่การศึกษา การที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้จัดการประชุมเป็นรายภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค ก็เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและเพิ่มศักยภาพในการทำงาน จึงมีประโยชน์มากในการบริหารงานบุคคลของ อ.ก.ค.ศ.ทั่วประเทศในการยกระดับคุณภาพการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต
ย้ำว่าในส่วนของนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการในหลายด้านไปพร้อมๆ กันนั้น ส่วนที่มีความจำเป็นและขาดไม่ได้คือ การตั้งเป้าหมายด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ที่จะต้องมีตัวชี้วัด เช่น ตัวชี้วัดระบบทดสอบ การวัดประเมินผล ที่เป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยที่ไม่มีระบบการทดสอบกลางมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ดังนั้น ศธ. จึงต้องหาแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อใช้วัดประเมินผลทางการศึกษา หากเราไม่มีการทดสอบประเมินผลอย่างเป็นระบบ ก็มีเสียงสะท้อนของครูว่า เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งบางครั้งเป็นความจริง แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องของความรู้สึก ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาจะต้องทำอย่างเป็นระบบ กล่าวคือ ต้องมีการพัฒนา
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า สำหรับบทบาทหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.คือการบริหารงานบุคคล จึงควรเป็นการบริหารเพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน ให้งานมีคุณภาพสอดคล้องกับนโยบายต่างๆ ทางการศึกษา เพราะเมื่อคนทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลให้องค์กรหลักประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย คือ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องหลักของการบริหารงานบุคคลจะต้องเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้ได้ และเป็นโจทย์สำคัญที่ขอฝากไว้ให้ทุกคนช่วยกันดูแลผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในเขตพื้นที่ของตนเองว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งให้มีระบบข้อมูลการขาดแคลนครู ทั้งจำนวน รายวิชาที่ขาด สัดส่วนการขาด การกระจุกตัว ความเกี่ยวข้องระหว่างการดำเนินงานกับผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษามากน้อยเพียงใด และจัดการศึกษาที่ส่งเสริมให้เกิดขึ้นคุณภาพหรือไม่
อ.ก.ค.ศ.จึงต้องมีระบบข้อมูลเหล่านี้ และถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดและรับชอบในการบริหารงานบุคคลด้วย ในขณะที่รัฐมนตรียังต้องถูกตรวจสอบจากนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ประชาชน สังคม สื่อมวลชน ฯลฯ ไม่ต่างกัน ดังนั้นในความเป็นจริง อ.ก.ค.ศ.ก็ควรจะรับผิดรับชอบต่อครู ประชาชน ชุมชน ภาคเอกชนในพื้นที่ของตนเอง ตัวอย่างคือ ในบางเขตพื้นที่การศึกษามีผลการประเมินวิทยฐานะครูและผู้บริหารอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่ขณะเดียวกันกลับมีคุณภาพผลสัมฤทธิ์นักเรียนต่ำมาก และมีโรงเรียนถูกปล่อยปละละเลย กรณีเช่นนี้จึงเป็นบทบาทหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.ที่จะต้องมาช่วยการพัฒนาคุณภาพเช่นกันด้วย เช่น ให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะ เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ เกิดการยกระดับคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้ฝากประเด็นให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ ครูผู้สอนด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มีสื่อใหม่เกิดขึ้นมากมาย ครูจะต้องมีความรู้ความสามารถในการเรียนการสอนด้วย ICT รูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งสามารถใช้แท็บเล็ตจัดการศึกษา ใช้แอพพลิเคชันใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
ที่สำคัญ ขอให้ อ.ก.ค.ศ.ช่วยระบบบริหารงานบุคคลของประเทศด้วย เรื่องใดที่ต้องการความเป็นอิสระ สิ่งใดต้องการให้ส่งเสริมสนับสนุนก็ขอให้บอกกัน เพื่อหาความพอดีและเกิดกติกาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เพื่อให้ครูเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ด้านการบริหารงานบุคคลต่างๆ ที่ตรงกัน รวมทั้งมีเรื่องที่จะต้องช่วยดำเนินการต่อเนื่อง เช่น การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เปิดเผยผลการสอบสวนคดีสอบครูผู้ช่วยว่า มีความเป็นไปได้ว่ามีการทุจริตการสอบ ในกรณีนี้เราจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็ต้องช่วยกันคิด
ทั้งนี้ ศธ.ไม่ใช่องค์กรที่ค้ากำไร ความสำเร็จจึงไม่ได้อยู่ที่ผลกำไรขาดทุน แต่เป้าหมายหลักของการทำงานในที่นี้ก็คือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวได้ดี และมีศักยภาพที่จะยืนอยู่บนเวทีระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกได้
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
26/9/2556