หารือกับเทคโนฯ ปทุมวัน

ศึกษาธิการ – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือกับผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เกี่ยวกับปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษา  โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ  รศ.ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  พลเรือเอกเรืองทิพย์ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา   รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา   ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ที่ห้องประชุมMOC

รมว.ศธ. แถลงผลการหารือในครั้งนี้ว่า ผู้บริหารสถานศึกษาดังกล่าวเกิดความไม่สบายใจ จึงได้ขอเข้าพบเพื่อหาทางยุติปัญหาการทะเลาะวิวาทระหว่างนักศึกษา 2 สถาบัน หลังเกิดเหตุการณ์นักศึกษาทั้ง 2 แห่งถูกยิงเสียชีวิตจากการแก้แค้นกันและกัน

จากการหารือในครั้งนี้พบว่า สถาบันเทคโนโลยีปทุมวันได้มีมาตรการในการดูแลนักศึกษาค่อนข้างดี แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นอกพื้นที่และห่างจากสถาบัน จึงไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตามปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทมีมานานแล้ว แต่ในอดีตไม่รุ่นแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายยกระดับอาชีวศึกษา “อาชีวะสร้างชาติ” ศธ.จึงมีแนวทางที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ เช่น

  • หลักสูตรเตรียมอาชีวศึกษา  โดยจะนำนักศึกษาอาชีวะจากสถาบันต่างๆ มาเข้ารับการอบรมหลักสูตรของทหาร ก่อนที่จะเข้าเรียนในสถาบัน เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัย ความรักความสามัคคี ก่อนที่จะถูกครอบงำจากรุ่นพี่ที่เป็นหัวโจก ซึ่งเชื่อว่าเมื่อนักศึกษาได้ฝึกฝนและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ก็จะเกิดความรักใคร่กลมเกลียว เกิดเป็นความผูกพัน ที่จะช่วยลดเหตุทะเลาะวิวาทเมื่อเข้าไปอยู่ในสถาบัน อีกทั้งจิตสำนึกที่ดีจะช่วยให้สามารถเลือกหนทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้จะมีการดำเนินงานควบคู่ไปกับการประเมินผล หากผลประเมินออกมาดี ก็จะขยายผลให้ครอบคลุมนักเรียนนักศึกษาใหม่ทั้งหมด และนักเรียนนักศึกษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

  • การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนสายอาชีพ  โดยอาจจะให้เด็กเรียนเนื้อหาในสถานศึกษา 1 เดือน จากนั้นให้ไปทำงานในโรงงาน/สถานประกอบการเป็นเวลา 1 อาทิตย์ หรือจัดให้มีกิจกรรมออกค่ายอาสา กิจกรรมจิตอาสา เพื่อไม่ให้เด็กมีเวลาว่างมากเกินไป และเด็กๆ ได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังได้ประสบการณ์และมีรายได้จากการทำงาน ก่อให้เกิดเป็นความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความสำคัญ และมีประโยชน์ต่อสังคม

  • การพูดคุยทำความเข้าใจ  โดยจะให้แต่ละสถาบันรวบรวมรายชื่อผู้ที่เป็นหัวโจก โดยเฉพาะรุ่นพี่ทั้งที่จบไปแล้วและที่เรียนไม่จบ ส่งข้อมูลมายัง ศธ. เพื่อจะได้ขอความร่วมมือจากตำรวจและทหารเข้าไปเยี่ยมบ้าน ไปพบปะพูดคุยทั้งพ่อแม่และตัวเด็ก เป็นการใช้ไม้นวมเพื่อตัดวงจรอุบาทว์ให้ขาดตอน ไม่ให้ปลุกปั่นรุ่นน้องไปก่อเหตุต่างๆ อีก

  • การย้ายสถานที่เรียน  สถาบันเทคโนโลยีปทุมวันได้เสนอแนวคิดที่จะย้ายสถานที่ตั้ง ซึ่งได้มีการวางแผนและเตรียมการจะย้ายไปตั้งที่จังหวัดพิจิตรซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดี เพราะการย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดเหมือนย้ายไปหานักเรียนนักศึกษา ซึ่งในความเป็นจริงสถาบันการศึกษาอาชีพต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนและเป็นพื้นที่ที่มีนักเรียนนักศึกษาอยู่แล้ว ส่วนการลดการก่อเหตุทะเลาะถือเป็นเพียงผลพลอยได้

  • ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนแบบประจำ  ซึ่งการจัดโรงเรียนหรือสถาบันวิชาชีพแบบอยู่ประจำ จะเป็นผลดีต่อตัวนักเรียนนักศึกษาหลายด้าน ทั้งได้อยู่ในสายตาครูอาจารย์ตลอดเวลา มีเวลาในการฝึกฝนตนเองเพราะอยู่ใกล้โรงฝึกและเครื่องมือต่างๆ หากสถาบันมีพื้นที่ติดหรือใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ก็สามารถเจรจาขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อส่งนักเรียนนักศึกษาไปฝึกงาน ทำให้ได้ประสบการณ์การทำงาน มีรายได้ อีกทั้งยังได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนมีระเบียบวินัย ส่งผลให้เด็กมีคุณภาพที่ดีขึ้น ส่วนผู้ประกอบการก็สามารถรับเด็กไปทำงานได้อย่างสะดวกเช่นกัน

ในส่วนของสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ก็จะใช้แนวทางจัดการเรียนการสอนแบบประจำ ซึ่งหากทำได้ดี ก็จะใช้เป็นโมเดลต้นแบบต่อไป โดยจะนำเรื่องนี้เสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะการสร้างสถานศึกษาแบบประจำ ต้องใช้ต้นทุนสูง ทั้งอาคารเรียน หอพัก โรงฝึก เครื่องมือต่างๆ พร้อมทั้งจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชน นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานใหญ่ ในการสร้างสถานศึกษาแบบประจำร่วมกับ ศธ.ด้วย

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 2/10/2014