สอศ.จับมือคณะศึกษาศาสตร์ ม.บูรพา และ ม.ศิลปากร ร่วมพัฒนาศักยภาพครูอาชีวศึกษายุค 4.0 เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพครูอาชีวศึกษายุค 4.0 เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ณ ห้องประชุม 1 สอศ.
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาเพิ่มศักยภาพวิชาชีพครู โดยความร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีระยะเวลา 5 ปีซึ่งจะให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพครูอาชีวศึกษายุค 4.0 แบบครบวงจร เพื่อการพัฒนาแรงงานฝีมือยุคใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามนโยบาย Thailand 4.0 และมีความรู้ สมรรถนะตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในภาคการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย New Growth Engine 6สาขา ได้แก่ สาขาวิชาช่างอากาศยาน สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ สาขาวิชาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ และสาขาเกษตรก้าวหน้า ส่วนความร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีระยะเวลา 4 ปีซึ่งจะสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาเพิ่มศักยภาพของวิชาชีพครูในรูปแบบ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC)” โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร (Content and Language Integrated Pedagogy via electronic communication : e-CLIP) โดยเน้น Best Practice ด้าน การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learningหรือนวัตกรรมทางการศึกษาที่มีลักษณะของการรวมกันเพื่อใช้กระบวนการปฏิบัติมาร่วมกันสะท้อนความคิดและปรับปรุงงาน ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาครูและบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีศักยภาพนำไปสู่การผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.สมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยบูรพารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรครูอาชีวศึกษาในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งบุคลากรครูอาชีวศึกษาถือได้ว่าเป็นทรัพยากรทางการศึกษาที่เป็นกำลังสำคัญที่สุดในกระบวนการผลิตและพัฒนาผู้เรียนที่เป็นอนาคตแรงงานฝีมือที่จะออกไปปฏิบัติงานตอบสนองความต้องการแรงงานในพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยวัตถุประสงค์หลักที่เป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยบูรพาที่อยู่ในข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ คือการร่วมสร้างครูอาชีวศึกษามืออาชีพที่มีความสามารถออกแบบการจัดประสบการณ์ทางการศึกษายุค 4.0 ที่ให้ความสำคัญเรื่องการบูรณาการศาสตร์ด้านการศึกษาสมัยใหม่เข้ากับศาสตร์ความรู้ด้านทักษะอาชีพ ตลอดจนมั่นใจได้ว่าบุคลากรครูได้เรียนรู้วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะช่วยนำไปฝึกทักษะแรงงานในยุค 4.0 และกระบวนการคิดขั้นสูงของผู้เรียนอาชีวศึกษาตามทิศทางความต้องการแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นการพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ เป็นเครือข่ายการเรียนรู้ทางวิชาการและวิชาชีพด้วยกันโดยเน้นจุดมุ่งหมายหลักคือ การพัฒนาการเรียน การสอนตามแนวคิด active learning โดยเฉพาะในเรื่องของการปฏิบัติการระหว่างการจัดการเรียนการสอน ในเรื่องของชุมชนทางการเรียนรู้ด้านวิชาชีพ professional learning community แนวคิดของ PLC เพื่อขับเคลื่อนการเรียนการสอนให้การเรียนการสอนนั้นสามารถส่งเสริมการปฏิบัติสำหรับผู้เรียนให้ผู้เรียนได้มีการปฏิบัติจริง ซึ่งเรียกว่าแนวคิด active learning มีความร่วมมือในเรื่องของการศึกษาวิจัยและการบริการวิชาการ พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ตลอดจนพัฒนาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในระดับอาชีวศึกษาของนักเรียนนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาของอาชีวศึกษา จึงถือเป็นเครือข่ายที่สำคัญของมิติแห่งความร่วมมือในการพัฒนาวิชาชีพครูอาชีวศึกษาให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
ที่มา : ประชาสัมพันธ์ สอศ.