(๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “แนวทางการดำเนินการตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ” โดยได้รับความสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนหน่วยงานพัฒนาเด็กปฐมวัยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน ๒๕๐ คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานมาตรฐานเดียวกัน ณ โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินการตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ โดยเดินหน้าทำความเข้าใจกับหน่วยงานปฏิบัติสอดคล้องกับสร้างคนแต่ละช่วงชั้นตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่มีความเชื่อมโยงกับการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและตามความถนัดของผู้เรียนที่สอดรับกับกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งกำหนดว่า สถานศึกษาเป็นผู้จัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา (การประเมินตนเอง) โดยการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของแต่ละระดับและประเภทการศึกษา พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษาเพื่อนำไปสู่กรอบผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ตามบริบท ระดับและประเภทการศึกษาของสถานศึกษา และให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทำหน้าที่ประเมินภายนอกตามรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาและประเด็นอื่น ๆ ผ่านหน่วยงานต้นสังกัด โดยุม่งหมายให้เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ๓ ด้าน ที่เหมาะสมตามช่วงวัย มีความต่อเนื่อง เชื่อมโยง และสะสมตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา มุ่งสร้างคุณภาพผู้เรียนยุค ๔.๐
“ความเชื่อมโยงกันระหว่างมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติ และกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา จึงมีความสอดคล้องและต่อเนื่องกันในการดำเนินงาน” ดร.วัฒนาพร กล่าว
สกศ. ในฐานะเจ้าภาพกลางด้านการพัฒนาปฐมวัย จึงเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับทราบมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติที่เป็นมาตรฐานกลางของประเทศใช้กับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดบริการ ดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้ง ๔ หน่วยงานหลัก พม. มท. สธ. และ ศธ. เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา สอดรับตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ และเป็นไปตามเจตจำนงค์ที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๒
ด้าน นายแพทย์ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า คู่มือมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการบูรณาการพัฒนาเด็กปฐมวัยของทั้ง พม. มท. สธ. ศธ. และ อปท. เพื่อดำเนินงานตามมาตรฐานกลางของประเทศตามที่ระบุไว้ในคู่มือมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯ ถือเป็นความรับผิดชอบระดับสูงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย การจัดกระบวนการสอนที่เหมาะสมทั้งทางร่างกาย จิตใจ นิสัย และอารมณ์ที่เหมาะสมกับสภาวะของเด็กเล็กจึงมีความสำคัญมากโดยใช้คู่มือมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯ เป็นเข็มทิศในการดำเนินงานที่มีมาตรฐานเดียวทั้งประเทศ
สำหรับ สกศ. จัดการประชุมวิชาการ “แนวทางการดำเนินการตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวันแห่งชาติ” ระดับภูมิภาคครั้งสุดท้าย ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงปลายกรกฎาคม ๒๕๖๒
ทั้งนี้ สาระสำคัญของคู่มือมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ เห็นชอบร่างมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ตามที่ ศธ. เสนอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการดูแลพัฒนาและจัดการศึกษา และการดำเนินงานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัดที่ดูแลเด็กในเวลากลางวัน ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด – ๖ ปีบริบูรณ์ หรือก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
โดยกำหนดมาตรฐาน ๓ ด้าน ประกอบด้วย ๑.ด้านการบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ๒.ด้านครู/ผู้ดูแลเด็กให้การดูแลและจัดประสบการณ์ การเรียนรู้และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย และ ๓.ด้านคุณภาพของเด็กปฐมวัย แบ่งเป็นเด็กแรกเกิด – อายุ ๒ ปี และเด็กอายุ ๓ – ๖ ปี หรือช่วงก่อนเข้าศึกษาระดับ ป.๑ ซึ่งถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเด็กและควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและมีความต่อเนื่องสอดคล้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นไปตามเจตจำนงค์ที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ และสามารถนำไปใช้ประเมินการดำเนินงานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกสังกัด ประมาณกว่า ๕๓,๓๓๕ แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดบริการและความต่อเนื่องของการพัฒนาเด็กปฐมวัย
ที่มา : ข่าว สกศ.