ศธ.เผยแนวทางในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ต้องร่วมมือทุกมิติเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กให้เข้มแข็งทางใจ อยู่อย่างปลอดภัยและมีความสุข(22 ต.ค.62) จากกรณีที่กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในหัวข้อ “การศึกษาฆ่าฉัน” เพื่อสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ในสถาบันการศึกษาของไทย เช่น นักเรียนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากบทลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี การล่วงละเมิดทางเพศโดยอาจารย์ รวมทั้งความคาดหวังจากครอบครัวที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเยาวชน เช่น การกดดันให้ผลสอบออกมาดี ไปจนถึงข้อบังคับเรื่องเครื่องแต่งกายและทรงผมของโรงเรียน และยังได้เผยแพร่คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียนที่รวบรวมกฎหมายให้นักเรียนทุกคนได้ต่อกรกับอำนาจมืดในโรงเรียนนั้น นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันว่า โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้จัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานและการเรียนรู้และตัวชี้วัดใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งสร้างคุณลักษณะและสมรรถนะ เพื่อให้เด็กไทยมีความเป็นมนุษย์ที่สมดุล ทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกที่ดี กล่าวคือ เป็นคนดีมีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ การจัดการศึกษาจึงไม่ได้มีเฉพาะระบบการจัดการเรียนรู้เท่านั้น แต่ได้จัดให้มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่เป็นกระบวนการดำเนินงานที่มีแบบแผนมีขั้นตอนอย่างชัดเจน ในการส่งเสริม สนับสนุน ดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ประสบความสำเร็จทางการเรียน และให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้าน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้ การดูแลช่วยเหลือนักเรียนของ สพฐ. มี 5 ขั้นตอนที่โรงเรียนจะต้องปฏิบัติ คือ
นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้มีการพัฒนาครู ในเรื่องของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทักษะชีวิต เพศวิถีศึกษา และการเสริมสร้างวินัยเชิงบวกในชั้นเรียน เพื่อการคุ้มครองและดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการเสริมสร้างวินัยเชิงบวกในชั้นเรียนเพื่อให้ครูใช้ในการปรับพฤติกรรมนักเรียนแทนการใช้ไม้เรียวอีกด้วย ในส่วนของการดำเนินงานของสถานศึกษาและครู สพฐ.ได้กำหนดแนวทางการปกป้องคุ้มครองเด็กในสถานศึกษา ภายใต้แนวคิด “เด็กในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคนได้รับการปกป้องคุ้มครอง มีความสุขในการเรียนรู้ ในสถานศึกษาที่มีความปลอดภัย” ที่เห็นความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยออกมาตรการสำคัญใน 3 ประเด็น คือ 1) ปลอดภัยจากการถูกกระทำความรุนแรงที่มีลักษณะเป็นการรังแกกันของเด็ก 2) ปลอดภัยจากการถูกลงโทษที่ไม่เหมาะสมจากครู 3) การป้องกันการถูกคุกคามทางเพศจากเพื่อน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษา นอกจากนโยบายในการปกป้องคุ้มครองเด็กแล้ว สพฐ. มีหนังสือที่ ศธ 04277/ว147 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ได้แจ้งให้สถานศึกษาทุกแห่งดำเนินการตามมาตรการการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุการณ์การกระทำรุนแรงต่อเด็กในสถานศึกษาของ สพฐ. “การดูแลเด็กให้รอดปลอดภัย มีมิติการดูแลหลายมุม การศึกษาเป็นเพียงหนึ่งมิติที่ใกล้ตัวเด็ก แต่ยังมีมิติของครอบครัว มิติของชุมชน มิติของสื่อ และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะทำร้ายเด็ก จึงต้องให้ทุกมิติร่วมกันขับเคลื่อนการปกป้องคุ้มครองเด็กให้มีความเข้มแข็งทางใจ อยู่อย่างปลอดภัย และมีความสุขด้วย” ปลัด ศธ. กล่าว ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน |
ข่าว ศธ. 360 องศา