ศธ.กับความก้าวหน้าหารายได้เพิ่มช่วยเพื่อนครู/ ขับเคลื่อน E – Learning

                  นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

                   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ได้พิจารณาในเรื่องแรกถึงโครงการนำร่องเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครูในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้นนอกเวลาราชการเป็นรายได้เสริมเพื่อเป็นการช่วยให้บุคลากรได้รับประโยชน์เพราะตระหนักถึงผลกระทบด้านค่าครองชีพที่เกิดขึ้นโดยตรงกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มปฏิบัติการให้มีโอกาสมีรายได้เพิ่ม โดยสรุปคือ 200 บาทต่อ 30 ชั่วโมง โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงการคลัง เพื่อก่อประโยชน์ต่อประชาชนไปพร้อมกันในกลุ่มเป้าหมายจำนวน 4,733 คน ทั้งข้าราชการครูและบุคลากรใน 20 จังหวัด มีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถดำรงชีวิตอย่างพอเพียงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและสามารถทำให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้รับการเพิ่มพูนทักษะและนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างงานและพัฒนาอาชีพในที่สุด

                  เรื่องที่สอง คือ ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านระบบสารสนเทศ (E – Learning) เพื่อลดช่องว่างของโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในท้องถิ่นห่างไกล เพื่อความรู้ที่เท่าเทียมหลังจากมีการร่วมลงนามแล้ว 3 ฝ่ายระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และบริษัท สามารถคอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมทั้งได้มีการประชุมเตรียมการแล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งปรากฏว่ามีความชัดเจนมากขึ้น โดย ครูจะเป็นผู้ออกแบบการสอนไว้ล่วงหน้าและในระหว่างการสอนก็จะมีการสอบถามระหว่างโรงเรียนต้นทาง 3 โรงเรียนและขณะนี้มีโรงเรียนปลายทางแล้ว 12 โรงเรียน

                          ทั้งนี้ โดยมีแผนการดำเนินงานระยะที่ 1 System Setup ระหว่างเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2551 จะมีการติดตั้งทดสอบระบบโรงเรียนต้นทาง/ ปลายทาง รวมถึงจัดเตรียมแผน การสอนและเนื้อหา พร้อมครูผู้สอนทั้ง 2 ทาง ระยะต่อมาระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2551 จะนำการสอนระบบ Mock up คือ สอนตามตารางและเนื้อหาที่ได้จัดเตรียมไว้โดยจะมี การอบรมครูในเดือนมกราคม 2552

                      นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมต่อไปถึงการรายงานผลการวิจับผลการถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ สป. ว่า ทำให้การดำเนินงานมีความชัดเจนขึ้น โดยมีผู้เกี่ยวข้องในท้องถิ่นมีการระดมความคิดจากการสุ่มสถานศึกษาที่ถ่ายโอนจำนวน 59 แห่ง พบว่าปัญหาส่วนหนึ่งคือเรื่องของความพร้อมของผู้รับการถ่ายโอน ดังนั้น จึงต้องมี การสนับสนุนด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยคำนึงถึงคุณภาพการศึกษาในท้องถิ่นเป็นหลัก

*****************************

กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป. / ข่าว