ผศ.ดร.นพพร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการทำงานของแพมบา แชร์เวย์ส คือระบบจะทำการค้นหาและจับคู่ ผู้ที่ต้องสัญจรโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถสาธารณะ อาทิแท็กซี่ ที่มีพื้นที่ว่างในรถ กับผู้ที่ต้องการสัญจรไปในทางเดียวกันแบบอัตโนมัติ ซึ่งเจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลจะได้ค่าตอบแทนจากการแบ่งปันพื้นที่ในการร่วมสัญจร ในอีกมุมหนึ่งผู้ที่ร่วมสัญจรจะสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายที่น้อยลง ช่วยลดปริมาณรถยนต์และลดการสร้างมลภาวะจากการแบ่งปันการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ในด้านของความปลอดภัย แพมบา แชร์เวย์ส มีฟังก์ชันตรวจสอบข้อมูลเพื่อนร่วมทาง ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปอ่านข้อมูลของผู้ใช้แอปพลิเคชั่นที่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อนการตัดสินใจร่วมสัญจร อีกทั้งยังมีห้องแชท (Chat Room) เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อเพื่อหาข้อมูลของผู้ร่วมสัญจรเพิ่มเติม หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงแผนการเดินทาง ซึ่งสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
ทั้งนี้ จากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดมลภาวะทางอากาศนั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับสากล ส่งผลให้ แพมบา แชร์เวย์ส ที่เปรียบเสมือนแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างตรงจุด จึงเป็นผลงานเดียวที่ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศ จากนครเมืองเจนีวา (Prize on stage granted by the City of Geneva) ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุดที่ประเทศไทยได้รับ และรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 46 (46th International Exhibition Invention Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ “แพมบา แชร์เวย์ส” ได้เปิดให้ดาวน์โหลดและใช้บริการฟรี ทั้งในระบบแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (IOS) รวมถึงสามารถใช้งานผ่านเวปไซต์www.pambashare.com คณะผู้วิจัยได้เริ่มพัฒนาแอปพลิเคชั่นนี้มาตั้งแต่ปี 2559 และมีแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้ทดสอบโดยการปล่อยให้มีการดาวน์โหลดและใช้งานในปลายปี 2560 มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 3,000 คน ส่วนในระดับองค์กรมีแผนจะเริ่มให้บริการกับบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อน และมีเป้าหมายให้ แพมบา แชร์เวย์ส ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต เพื่อเป็นการลดปริมาณรถและมลภาวะในอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ผศ.ดร.นพพร กล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร 02-564-3001-9 ต่อ 3037 หรือ www.engr.tu.ac.th