เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ การจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) บ้านเลอะกรา ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายนรา เหล่าวิชยา ที่ปรึกษาสำนักงาน กศน. คณะผู้บริหารสำนักงาน กศน.จังหวัดเชียงใหม่ ข้าราชการ ตลอดจนครูและนักเรียน เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านเลอะกรา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ หรือ กศน. ภาคเหนือ จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2542 อยู่ในถิ่นทุรกันดาร การเดินทางยากลำบาก อยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ 293 กิโลเมตร ปัจจุบันมีนักเรียน 33 คน แบ่งเป็น หญิง 16 คน และชาย 17 คน มีครู สังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดเชียงใหม่ 3 คน
ในโอกาสนี้ ทรงติดตามงานกิจกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 พ.ศ.2560 – 2569 และทอดพระเนตรการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยระดับประถมศึกษา ที่ใช้เพลงเป็นสื่อการสอน และการจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโครงงานพัฒนาผู้เรียน จัดการเรียนการสอนแก่ผู้ไม่รู้หนังสือ 15 คน ผู้เรียนฟังและพูดภาษาไทย 9 คน เด็กวัยเรียน 23 คน ปฐมวัย 10 คน และการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 คน นอกจากนี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ติดตั้งไฟฟ้าโซล่าเซลล์และไฟฟ้าพลังน้ำ พร้อมวิจัยควบคู่กันไป เพื่อให้ ศศช. และคนในชุมชน บ้านเลอะกรามีไฟฟ้าใช้ แต่เนื่องจากความต้องการใช้ไฟมากขึ้น และแบตเตอรี่ไม่สามารถเก็บไฟฟ้าได้ในระยะเวลานาน จึงต้องการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ในการนี้ มีพระราชดำรัสให้ผู้เกี่ยวข้องฝึกอบรมชาวบ้าน และครู ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลรักษา และการใช้แบตเตอรี่
ทั้งนี้ กศน.ภาคเหนือ ได้สนองงานโครงการตามพระราชดำริ อาทิ พัฒนาศักยภาพของครูในพื้นที่ทรงงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาระบบโปรแกรมฐานข้อมูลสารสนเทศของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาฯ, อนุรักษ์การเล่นดนตรีเตหน่ากู ของชาวกระเหรี่ยง ซึ่งใช้เล่นในงานปีใหม่ เกี้ยวพาราสี เล่านิทานสอนใจ โดยจัดทำเป็นแผ่นวีดิทัศน์แจกให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งยังได้เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ ปัจจุบันทายาทของภูมิปัญญาชาวบ้านได้พัฒนาเครื่องดนตรีเตหน่ากู ให้สามารถเล่นร่วมกับดนตรีสากลได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ฝึกทอผ้าลายพื้นเมือง
นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีพการเกษตรอย่างครบวงจรและอาชีพที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันแก่เด็กและเยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การเพาะปลูกในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จาก กศน.อำเภออมก๋อย การถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร สนับสนุนเมล็ดพันธุ์และอุปกรณ์จากกรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนไก่พื้นเมือง ไก่พันธุ์ไข่ จากกรมปศุสัตว์ ส่วนกรมประมง สนับสนุนลูกพันธุ์ปลาดุกอุยเทศ และอาหารปลา รวมทั้งยังส่งเสริมอาชีพและประสานงานเครือข่ายการทำงาน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้แก่คนในชุมชน อาทิ การปลูกกาแฟ การปลูกพืชเศรษฐกิจ การทอผ้าชุดประจำเผ่า การทอผ้าลายพื้นเมือง เป็นต้น โดยทรงรับซื้อผ้าทอเพื่อนำส่งขายที่ร้านภูฟ้า
14/1/2565