เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 9.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “พลัง กศน. พลังอาสาสมัคร กศน.สู่การศึกษาตลอดชีวิต” พร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “อาสาสมัคร กศน.สร้างโอกาสทางการศึกษา” โดยมีนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายชัยรัตน์ จำนงการ ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.ศธ.) นายนรา เหล่าวิชยา ที่ปรึกษาด้านการจัดการศึกษาตามโครงการพระราชดำริและบนพื้นที่สูง นายวัลลภ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. ตลอดจนผู้บริหาร กศน.ในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และอาสาสมัครแกนนำระดับจังหวัดจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 250 คน ณ ห้องประชุมแซฟไฟร์ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า การศึกษาเปรียบเสมือนรากแก้ว แผ่ขยายชอนไช เพื่อสร้างการศึกษา การพัฒนาและหล่อหลอมคนทุกช่วงวัย ให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะ และมีความสามารถ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะการศึกษาของ กศน. ที่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้สถานศึกษาต้องปิด แต่ในขณะเดียวกันการเรียนรู้หยุดไม่ได้ จึงได้ปรับวิธีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้ง 5 ออน ได้แก่ ออนไลน์ ออนแอร์ ออนแฮนด์ เป็นต้น นอกจากนี้ กศน.ยังมีหลักสูตรการเรียนรู้ที่หลากหลายสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
โดยกลุ่มเป้าหมายในการจัดการศึกษาและเรียนรู้ของ กศน. นับว่ามีความหลากหลายกลุ่ม ทั้งเด็กเร่ร่อน ผู้พิการ ผู้ทำพลาดในสถานพินิจ รวมไปถึงผู้สูงอายุ ที่ยังต้องการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ดูแลตนเองและครอบครัว รวมทั้งยังมีผู้เรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งล่าสุดผลการสำรวจพบว่า มีจำนวน 238,707 คน ที่มีทั้งเด็กเร่ร่อนและแรงงานรวมอยู่ด้วย กศน.จึงต้องแสดงบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้อย่างเข้มแข็ง ให้กับกลุ่มเป้าหมายหลักของ กศน. คือกลุ่มเด็กวัยเรียนที่ไม่อยู่ในระบบโรงเรียน ประชากรวัยแรงงานที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ผู้เรียนในสถานพินิจ เด็กในศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป เป็นต้น เรียกได้ว่า กศน.จะทำให้คำว่า “ใครอยากเรียนต้องได้เรียน” เกิดขึ้นจริง ซึ่งที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2564 กศน. ได้ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่คน 8.5 แสนคน การจัดการศึกษาต่อเนื่องแก่คน 6 แสนคน และการศึกษาตามอัธยาศัยผ่านกิจกรรม โครงการ และบริการในแหล่งเรียนรู้ ให้กับกลุ่มคน 1.5 ล้านคน
แต่ก็ต้องยอมรับว่า อัตรากำลังของ กศน.ที่มีอยู่ใน กศน.ตำบล/แขวง 7,432 แห่ง ซึ่งมีครูประจำตำบลเพียง 1 คน ยังไม่สามารถจัดและให้บริการการศึกษาให้ประชาชนในพื้นที่อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะภารกิจในการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในระดับพื้นที่ ที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย “ทุกคนที่อยากเรียน ต้องได้เรียน” ดังนั้น การมีอาสาสมัคร กศน. ที่มาจากทุกตำบล ๆ ละ 3 คน รวม 22,296 คน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยอาสาสมัครส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2564 (ฉบับปรับปรุง) เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นพลังที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลืองาน กศน.ให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกระบบโรงเรียนในชุมชน/หมู่บ้าน เป็นผู้กระจายข่าวด้านการศึกษา ประชาสัมพันธ์และแนะนำกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมด้านการศึกษา และการเป็นผู้ช่วยเหลือครู กศน.ตำบล ในการจัดกิจกรรมการศึกษาและเรียนรู้ด้วย
“ในนามรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ขอแสดงความขอบคุณในน้ำใจและพลังของอาสาสมัครทุกคน ที่จะมาร่วมสร้างโอกาสดี ๆ สร้างโอกาสทางการศึกษา ที่จะร่วมสร้างการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศด้วยหัวใจ ดังคำกล่าวแสดงเจตนาจำนงของตัวแทนแกนนำอาสาสมัครระดับจังหวัด ที่ว่า “เราจะทำความดี เข้าถึง พึ่งได้ ด้วยหัวใจ” นอกจากนี้ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. มีบรรยากาศของการประชุมเป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ มีการแสดงความคิดเห็นในรายมาตราอย่างหลากหลาย และมีความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งเชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะก่อเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการทำงานส่งเสริมการเรียนรู้ของ กศน.ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และไม่ว่า กศน.จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ปรัชญาและหัวใจของชาว กศน. ที่ต้องการทำเพื่อประชาชน จะไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว