เมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563 เวลา 14.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นผู้เรียนในสถานศึกษาเอกชนพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี รวมทั้งใน 5 จังหวัดภาคตะวันออก จำนวนกว่า 500 คน ในกิจกรรมรับฟังความคิดเห็น “เสียงจากเยาวชนไทย ครูพี่โอ๊ะใช้หัวใจฟัง” ในระหว่างการติดตามงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2563 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ณ โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง อำเภอเมืองระยอง
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) คณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) ในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรับฟังความคิดเห็นและความคาดหวังต่อการจัดการศึกษาของเอกชน เพื่อที่จะได้วางแนวทางส่งเสริมสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างถูกทิศทาง มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 สื่อสารภาษาต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้สื่อและเทคโนโลยียุคดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
“ขอแสดงความชื่นชมผู้เรียนทุกคน ที่มีความกล้าหาญนำเสนอสิ่งที่ต้องการและความคาดหวังได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น และเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นการสะท้อนมุมมองและความคิดเห็นของเด็กรุ่นใหม่ ที่เป็นประโยชน์อันล้ำค่ามาก ๆ และรับที่จะรวบรวมข้อมูลในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการเสนอต่อระดับนโยบายและคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับวางแผนปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
โดยมีสรุปความต้องการและเสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชนในพื้นที่อีอีซี ดังนี้
– การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ EEC เนื่องจากนักเรียนที่อยู่ห่างไกลยังขาดอุปกรณ์การเรียน ครูทำการสอนหลายระดับชั้นและหลายวิชาไปพร้อม ๆ กัน ทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม
– นักเรียนควรได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจและถนัด
– การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
– ต้องการให้มีการรับนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยโดยพิจารณาจาก Portfolio มากยิ่งขึ้น
– ต้องการให้การเรียนวิชาศิลปะ นาฏศิลป์ ดนตรี เป็นวิชาเลือกเสรีจริง ๆ และไม่สร้างความกดดันให้กับนักเรียน
– ขอให้ภาครัฐมีการปรับปรุงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด เนื่องจากสถานศึกษาในจังหวัดระยองหยุดเรียนมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ
– ให้ความสำคัญกับการเรียนสายศิลป์ และสายอาชีพ มากยิ่งขึ้น
– นักเรียนบางคนยังขาดทุนทรัพย์ในการเรียนในสิ่งที่ชอบ
– ระบบการศึกษาและหลักสูตร ยังไม่เอื้อต่อการหาตัวตนของตัวเอง
– ขอให้เริ่มการแนะแนวการเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กค้นหาตัวเองให้เจอจนกว่าจะเข้ามหาวิทยาลัย
– ขอให้โรงเรียนมีการประชาสัมพันธ์ต่อผู้ปกครองเพื่อทำความเข้าใจความต้องการของนักเรียน ทั้งในเรื่องการเรียนและการประกอบอาชีพ
– ขอให้มีพิจารณาปรับหลักสูตรการเรียนที่มีความทันสมัย ลดเวลาเรียนบางวิชาที่เรียนไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
– ขออย่าเปรียบเทียบคุณภาพของเด็กจากเกรดเฉลี่ยเพียงอย่างเดียว เพราะเด็กแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
24/8/2563