เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. และนายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมภารกิจการจัดการเรียนการสอนของ กศน. ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ สำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง โดยมีนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายปราโมทย์ เกี่ยวพันธ์ ศึกษาธิการจังหวัดตรัง นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ รองเลขาธิการ กช. นางสาวศรีนวล นุ้ยหงษ์ ประธาน ปส.กช.จังหวัดตรัง ตลอดจน นางนภา จิโรภาส ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง ผู้บริหาร กศน.ในพื้นที่ภาคใต้ คณะครู และนักศึกษา ให้การต้อนรับและเข้าร่วม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการรายงานถือว่าสำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง สามารถดำเนินการนำนโยบาย กศน. WOW ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้ง Good Teacher โดยจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูและบุคลากร กศน.ตรัง เพื่อจัดการเรียนการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยการสอนออนไลน์ Google classroom การผลิตสื่อการสอนออนไลน์ ด้วยโปรแกรม OBS Studio และศูนย์เรียนรู้ออนไลน์ กศน.ตรัง TLC@NFE, Good Place-Best Check in พัฒนา กศน.ตำบล และห้องสมุดประชาชน ให้มีมุมการเรียนรู้และอุปกรณ์ที่ครบถ้วน ตามหลักความสะอาด ปลอดภัย มีชีวิตชีวา ผู้ใช้บริการมีความสุข และมีข้อมูลสารสนเทศตามบริบทพื้นที่, Good Activities Digital Platform โดยจัดอบรมครู เพื่อให้ครูนำความรู้ทางเทคโนโลยีดิจิทัลใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ออนไลน์ และพัฒนากิจกรรมห้องสมุดประชาชนสู่รูปแบบดิจิทัล, Good partnership ร่วมมือกับเครือข่ายในพื้นที่เพื่อจัดการเรียนรู้ และการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 กับกระทรวงสาธารณสุข, Good Innovation อาทิ Google classroom การขยายผลการอบรมหลักสูตรการค้าออนไลน์ OOCC สู่การออกแบบผลิตภัณฑ์แบรนด์ ONIE เป็นต้น และ Good Learning Center เพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกช่วงวัย ในที่ราชพัสดุโรงเรียนที่ยุบเลิก 3 แห่ง ได้แก่ กศน.ตำบลหนองช้างแล่น กศน.ตำบลในควน ศรช.ตำบลปะเหลียน และ กศน.ตำบลบางหมาก
นอกจากนี้ ได้จัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แก่ผู้เรียนกว่า 6,000 คน รวมทั้งนักศึกษาพิการ อีกกว่า 150 คน พร้อมจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนรอบด้านและการศึกษาต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมการรู้หนังสือ การศึกษาเพื่อการมีงานทำ การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน และการศึกษาตามอัธยาศัยในแหล่งเรียนรู้ในอำเภอ ตำบล และชุมชนต่าง ๆ
“ขอแสดงความชื่มชมสำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง ที่นำนโยบาย กศน. wow ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการจัดหลักสูตรอาชีพที่หลากหลายตรงตามความต้องการผู้เรียนและบริบทของพื้นที่ ซึ่งได้นำผลผลิตและผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงในตลาดออนไลน์ และศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. (OOCC) ภายใต้แบรนด์ ONIE เป็นการสร้างงานและสร้างรายได้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งขนมผูกรัก ที่มีเพียงแห่งเดียวในไทย, ติหมา ภาชนะตักน้ำ ลดการใช้พลาสติก, ผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม, ตุ๊กตาปลาพะยูน, พืชผักสมุนไพรท้องถิ่น, กระเป๋าสานยุคใหม่, ถุงผ้าลายไทยรักษ์โลก ตลอดจนอาหารทะเลและอาหารพื้นเมือง
การนำทรัพยากรและวัสดุในพื้นที่ มาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ถือเป็นแนวคิดที่ชาญฉลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ผสานความคิดสร้างสรรค์ตามอัตลักษณ์ ในขณะเดียวกัน ก็มีความทันสมัย ก้าวทันยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง นำไปสู่ยอดสั่งซื้อและจำหน่ายทั้งในประเทศและเพื่อนบ้านอาเซียน ทั้งนี้ ยินดีให้การสนับสนุนการจดอนุสิทธิบัตร เพื่อรักษาผลิตภัณฑ์ให้เป็นสมบัติของคนตรังและของไทยตลอดไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ในโอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้กำลังใจเครือข่ายครูจังหวัดภาคใต้ พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการสอบบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วยของ กศน.
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า เป็นความพยายามที่จะสนับสนุนให้ครู กศน.ได้มีความมั่นคงในอาชีพความเป็นครู โดยได้ผลักดันการจัดสรรอัตราตำแหน่งครูผู้ช่วย 891 อัตราจนสำเร็จ จึงเป็นที่มาของการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย กศน.ในเร็ว ๆ นี้ ดังนั้น ขอให้ครูและบุคลากร กศน.ทุกคน ทำหน้าที่ในการสอบคัดเลือกตามกฎ กติกา และขั้นตอนอย่างเต็มความสามารถ และขอให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความทุ่มเท ทุ่มใจ และมีความสุข ภาคภูมิใจในงานของตนเอง
ส่วนประเด็นปัญหาเกี่ยวกับประกาศหลักเกณฑ์การสอบตำแหน่งครูผู้ช่วย กศน.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา) ซึ่งไม่รวมจังหวัดสตูล และการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครที่มีวุฒิการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรีตามที่ประกาศรับสมัคร นั้น ขอรับไว้ไปหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
10/7/2563