ยุทธศาสตร์สอนภาษาอังกฤษ

โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาเพื่อประกาศและขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสู่การปฏิบัติ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมี ดร.อ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และครูสอนภาษาอังกฤษ เข้าร่วมการเสวนากว่า 120 คน เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2556 ณ ห้องศาลาไทย ชั้น 3





  • ประกาศนโยบายการปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อต้องการเห็นความสามารถการใช้ภาษาในการสื่อสาร และนำไปแสวงหาความรู้ในวิชาต่างๆ ได้ดีขึ้น


รมว.ศธ.กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมการเสวนาที่มาร่วมกันคิด หาวิธีที่จะปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มีประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น จากการที่ได้ประชุมและเสวนาติดต่อกันมาหลายครั้ง ทำให้มีความคืบหน้าไปมาก ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้จากการเสวนาในวันนี้จะนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และนำไปปฏิบัติได้ หากนโยบายหรือแนวปฏิบัตินี้มีการนำไปใช้อย่างจริงจัง เชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้สามารถผลิตผู้เรียนที่มีความสามารถทั้งการใช้ภาษาในการสื่อสาร และใช้ความรู้ของภาษาอังกฤษในการไปแสวงหาความรู้ในวิชาต่างๆ ได้ดีขึ้น




  • ควรมีการวางยุทธศาสตร์หรือระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศ


การเรียนการสอนภาษาอังกฤษมีความสำคัญ เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุด เป็นภาษาที่เราสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาและแสวงหาความรู้ได้มากที่สุดด้วย แต่ปัญหาที่ใหญ่มากคือ ผู้เรียนส่วนใหญ่สื่อสารไม่ได้ ผู้ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อหาความรู้ก็มีอยู่พอสมควรแต่ไม่มากนัก เราไม่ค่อยคิดเรื่องการวางยุทธศาสตร์หรือระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เช่น ไม่เคยมีการตั้งประเด็นว่าประเทศไทยต้องการคนที่รู้และใช้ภาษาอังกฤษได้ในลักษณะต่างๆ อย่างไร และจะผลิตคนให้มีคุณลักษณะตรงกับที่สังคมและประเทศต้องการได้อย่างไร




  • ต้องเปลี่ยนระบบการทดสอบวัดผลภาษาอังกฤษของประเทศ


การปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนเป็นหัวข้อที่มีการหารือกันมาแล้ว เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ เราจะทดสอบวัดผลทั้งระบบอย่างไร ในการทดสอบวัดผลภาษาอังกฤษของโทเฟล (Test Of English as a Foreign Language – TOEFL) ย้อนหลังไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ได้มีการวัดผลแบบหนึ่งที่ทำให้ค้นพบว่าเด็กที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะเด็กเอเชียทำคะแนนได้ดี แต่มีปัญหาอยู่ 2 ข้อ คือ 1) พูดไม่ได้ และ 2) เขียนไม่ได้ จึงได้มีการเปลี่ยนวิธีการทดสอบวัดผล


ดังนั้น หากการทดสอบวัดผลของประเทศไม่เปลี่ยน การเรียนการสอนก็เปลี่ยนไม่ได้ และจะเชื่อมโยงไปถึงการทดสอบวัดผลของ ศธ. การทดสอบวัดผลโอเน็ต (O-NET) ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) รวมถึงการทดสอบวัดผลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย


การเปลี่ยนแปลงการทดสอบวัดผลของระบบการศึกษาของประเทศไทย หากจะบอกว่าทำยากก็ยาก แต่สถาบันทดสอบวัดผลแบบโทเฟลก็ทำได้แล้ว เพราะหากไม่ดำเนินการเรื่องการทดสอบวัดผลกันใหม่ ครูและนักเรียนก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน เพราะคิดว่าการเรียนไวยากรณ์และคำศัพท์มาก ทำให้ได้คะแนนดี เรียนพูดไปก็ไม่ได้เอาไปสอบ หรือเรียนเขียนไปก็ไม่ได้เอาไปเขียน ตรงนี้เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา แต่การเปลี่ยนการเรียนการสอนสามารถทำได้เลย และจะมีผลดีแน่นอนสำหรับเด็กไทยในการใช้ภาษาในการสื่อสารและหาความรู้ได้ดีขึ้น และเมื่อไปสอบในการทดสอบวัดผลระดับนานาชาติที่ได้มาตรฐานก็จะได้ผลดีขึ้น




  • ศธ.พร้อมจะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนเต็มศักยภาพตามความพร้อมของสถานศึกษา


นอกจากนี้ ศธ.จะมีการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนเต็มศักยภาพตามความพร้อมของสถานศึกษา ในส่วนของสถานศึกษาระบบทวิภาษา (Bilingual School) หรือสถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ (English Program) ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ก็จะส่งเสริมให้มีการดำเนินการให้ได้มาตรฐานมากขึ้น สถานศึกษาที่มีความพร้อมในแง่ของครู อาจารย์ที่เป็นเจ้าของภาษา หรือสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี จะมีการเพิ่มหรือปรับปรุงในเรื่องของการเรียนการสอนแบบเข้มข้น และสามารถจะเรียนเพิ่มเติมในลักษณะที่เป็นวิชาเลือก นอกเหนือจากการที่ต้องเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับ




  • ควรเน้นให้มีการสนทนาในห้องเรียนมากขึ้น


การที่จะให้มีวิชาสนทนามากขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ หากไม่นับ Bilingual School หรือ English Program แล้ว เราสอนกันมาโดยที่เด็กส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เรียนภาษาอังกฤษโดยไม่มีวิชาสนทนา หากจะเปลี่ยนให้มีวิชาสนทนาจะทำกันได้มากน้อยเพียงใด และที่นำเสนอมาทั้งหมดก็มีเรื่องที่น่าสนใจ คือ การจะให้มีวิชาสนทนา การเรียนภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น และการเรียนภาษาอังกฤษในลักษณะที่เป็นวิชาเลือก


นโยบายลักษณะนี้เกี่ยวโยงถึงการจัดระบบวิชาเลือก และการจัดห้องเรียน หากจะจัดให้มีการเรียนวิชาสนทนากันอย่างจริงจัง จำนวนนักเรียนในห้องไม่ควรเกิน 20 คน เพราะการจัดห้องเรียนที่มีนักเรียนมากถึง 45-50 คน ถึงแม้ว่าจะเรียกว่ามีวิชาสนทนา แต่ก็นับไม่ได้ว่ามี จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ในการเรียนภาษาต่างประเทศอื่น ก็มีปัญหาเดียวกัน คือความต้องการที่จะให้มีวิชาเลือก และห้องเรียนที่มีขนาดเล็กลงสำหรับการเรียนภาษาต่างประเทศ ที่น่ายินดีคือ มีผู้อำนวยการโรงเรียนบางท่านได้ดำเนินการในเรื่องการกำหนดให้มีชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น และการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็นวิชาเลือกแบบเข้มข้น ซึ่งได้ผลดีโดยผลการสอบโอเน็ตวิชาภาษาอังกฤษของโรงเรียนนี้สูงมาก มีเด็กสอบได้คะแนนเต็มหลายคน เป็นเรื่องที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีกำลังใจ เห็นลู่ทางในการที่จะเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศอื่นๆ ด้วย




  • ย้ำให้มีการเรียนภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น


การเรียนแบบเข้มข้น เช่น การมีค่ายฤดูร้อน หรือค่ายระหว่างปิดเทอมที่ใช้เวลานาน ตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ ไปจนถึง 4-6 สัปดาห์ จะต้องส่งเสริมให้มีมากขึ้น เรื่องของการเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษ ในขั้นต้นอาจจะใช้สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อมพอสมควรจนถึงพร้อมมากเท่านั้น แต่โจทย์ข้อใหญ่คือ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม ก็ต้องไปคิดว่าหากจะเพิ่มชั่วโมงเรียน จะมีครู แบบเรียน และวิธีการสอนที่เหมาะสมที่จะเป็นประโยชน์หรือไม่ การเรียนภาษาต่างประเทศทุกภาษามีปัญหาร่วมกันอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีเวลาเรียนน้อยก็จะไม่ได้ผล จึงต้องมาคิด วางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน




  • พร้อมวางแผนพัฒนาครู สื่อสมัยใหม่ จัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาให้เหมาะสม เป็นขั้นตอน


อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องให้ความสนใจก็คือ เด็กส่วนใหญ่ของประเทศที่มีความพร้อมในแง่ครูและสื่อการเรียนการสอนน้อย จะมีการดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เด็กถูกทอดทิ้ง จึงต้องมาคิดเรื่องการพัฒนาครู การใช้สื่อที่ทันสมัยให้เป็นประโยชน์ และหาทางพัฒนาการเรียนการสอนในสถานศึกษาให้เหมาะสมและเป็นขั้นตอน การอบรมพัฒนาครูต้องเกิดขึ้น จะต้องมีการทดสอบและประเมินผลความรู้ภาษาอังกฤษของครูทั่วประเทศ จากนั้นจึงเลือก กำหนด และหาวิธีอบรมพัฒนาครูแบบติวเข้ม ไม่ใช่การอบรม 2-3 วันแล้วกลับบ้าน ซึ่งไม่ได้ประโยชน์ การอบรมพัฒนาครูสอนภาษาต่างประเทศ จะต้องอบรมเป็นเดือน และทำให้ครูรู้จักการสอนโดยใช้สื่อสมัยใหม่ ให้ครูเรียนไปพร้อมกับนักเรียน เช่น เรื่องของการออกเสียง อาจจะต้องให้ครูกับนักเรียนเรียนจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ไปพร้อมๆ กัน


ทั้งนี้ การเรียนการสอนโดยใช้สื่อสมัยใหม่และบทบาทของครู จะมีผลต่อโรงเรียนที่มีครูที่พูดภาษาอังกฤษได้เป็นจำนวนจำกัดหรือไม่มีเลย เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่ฝากให้คิดเพิ่มเติม สำหรับสถานศึกษาส่วนใหญ่ที่มีความพร้อมน้อย ได้มีการให้โจทย์ไปว่า จะมีการใช้สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษา แบบเรียน การเรียนทางไกล และการเรียนร่วมกันระหว่างโรงเรียน มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างไร ในโครงการดังกล่าวจะต้องมีการอบรมพัฒนาครูแบบเข้มข้น และใช้สื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่เข้ามาช่วย


ประเด็นต่างๆ ที่ยกมานี้ หากไม่มีความชัดเจนเพียงพอ เมื่อประกาศให้เป็นนโยบายออกไปก็อาจจะไม่เกิดการปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ได้ จึงต้องการให้ฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายที่ดูแลการปฏิบัติ ฝ่ายที่ดูแลเรื่องการเรียนการสอน ช่วยเสนอความเห็น เพื่อที่ฝ่ายวิชาการและฝ่ายที่เข้าใจเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในเชิงวิชาการ หรือศึกษาระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในประเทศต่างๆ จะได้ช่วยให้คำตอบ หรือช่วยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้








 

ยุ ท ธ ศ า ส ต ร์ ก า ร ป ฏิ รู ป ก า ร เ รี ย น ก า ร ส อ น ภ า ษ า อั ง ก ฤ ษ
ระยะ
5 ปี (พ.ศ.2556-2561)


 


1. ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน


– ปรับจากการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นไวยากรณ์ เป็นการสอนที่เน้นการสื่อสาร (Communicative Language Approach – CLA)
– เพิ่มกิจกรรมการอ่าน
(Extensive Reading)
จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่กระตุ้นความสนใจให้หลากหลาย
ออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับความพร้อมและความแตกต่างของโรงเรียน


2. พัฒนาครู


– ฝึกอบรมครู (Teaching Training) ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา
– ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู
(Professional Development – PD)
พัฒนาระบบติดตามช่วยเหลือ แก้ปัญหา และกลไกการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน (Coaching and Mentoring)

กำหนดมาตรฐานด้านภาษาอังกฤษ สำหรับใช้เป็นเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติของครู


3. ส่งเสริมการใช้ ICT และพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน


– ผลิต/สรรหา e-Content แบบโต้ตอบ (Interactive) ด้วยเนื้อหาแบบ Content-based เพื่อช่วยครูที่ไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษ
– ผลิต/สรรหา
Learning App. แบบต่างๆ เช่น ฝึกออกเสียง บทสนทนาเรียนรู้ด้วยตนเอง และบทสนทนาที่เรียนรู้เพื่ออาชีพ
– อบรมและส่งเสริมการใช้
ICT  ศึกษาวิธีการสอนและเนื้อหาต่างๆ จากเว็บไซต์


4. ขยายโครงการพิเศษ


– ขยายโครงการพิเศษต่างๆ ได้แก่ 1) English Program (EP), 2) Mini English Program (MEP),  3) International Program (IP) สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถทางวิชาการสูง 4) English Bilingual Education (EBE) ด้วยการสอนภาษาอังกฤษผ่านวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาและศิลปศึกษาสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา และ 5) English for Integrated Studies (EIS) ด้วยการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
– พัฒนาห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ
(Enrichment Class)
– พัฒนาห้องเรียนสนทนาภาษาอังกฤษ
(Conversation Class)
– พัฒนาหลักสูตรและห้องเรียนภาษาอังกฤษแบบเข้มเพื่ออาชีพ สำหรับนักเรียนที่กำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่
3


5. สอบวัดระดับความรู้ความสามารถภาษาอังกฤษตามมาตรฐานสากล


– เทียบกรอบมาตรฐาน CEFR (Common European Framework of Reference) เพื่อวัดความรู้ความสามารถครูและนักเรียน
– บริการข้อสอบวัดความรู้รายเดือนสำหรับครูและนักเรียนทางเว็บไซต์


6. เพิ่มเวลาเรียน


– เพิ่มชั่วโมงเรียนจาก 40 ชม. เป็น 120 ชม.ต่อปี (ป.1-ม.3 และเพิ่มขึ้นในระดับ ม.ปลาย) ตามโครงสร้างเวลาของหลักสูตรที่จะออกใหม่
– ออกแบบการบ้านแบบสร้างสรรค์ให้นักเรียนทำนอกเวลา
– จัดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้ม ระยะเวลา
2-3 สัปดาห์ (84-130 ชม.) ในช่วงปิดภาคเรียน


7. จัดกลไกขับเคลื่อนที่เข้มงวดและคอยช่วยเหลือสนับสนุน


– พัฒนา Teaching Mobile Unit ประจำศูนย์ PEER (Primary English Education Resource)
– พัฒนากลไกการพัฒนาวิชาการด้วยชุมชนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพ
(Professional Learning Community : PLC) อย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
พัฒนาระบบ Coaching
ประจำโรงเรียน เพื่อเป็นกลไกคอยช่วยเหลือครู ให้คำแนะนำ ติดตามสอดส่องปัญหา และนำการแก้ไข

 



กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
8/12/2556