การแข่งขันคอนกรีตมวลเบา ระดับอุดมศึกษา ครั้งที่ 10 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับเป็นอีกเวทีที่เปิดโอกาสให้ นิสิตนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้ร่วมประชันฝีมือและโชว์พลังความคิดสร้างสรรค์ด้านการคิดค้นส่วนผสมของคอนกรีตโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบาและสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้สูงสุด โดยการแข่งขันครั้งล่าสุด จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีบริษัท ยูบาว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตปูนสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ก่อสร้าง ตราผึ้ง ร่วมให้การสนับสนุนในการเฟ้นหาสุดยอดฝีมือครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีคอนกรีตมวลเบาของนิสิตนักศึกษาวิศวกรรมโยธาทั่วประเทศ
สำหรับสุดยอดฝีมือผู้คว้ารางวัลชนะเลิศไปครองในครั้งนี้ คือ ทีมนิสิตจากสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ประกอบด้วย นายวีรณัฐ สุริยะ นายณัฐวุฒิ เขื่อนแก้ว นายภาณุพงศ์ มหาโคตร นางสาวสุภาภรณ์ มาละสุทธิ์ นางสาวณัฐริกา วงศ์ปัญญา และนายสุรักษ์พันธ์ชัย ใจแก้ว โดยทั้งหมด เป็นนิสิต ชั้นปีที่ 2 มี ผศ.ปิยพงษ์ สุวรรณมณีโชติ และอาจารย์สุรเชษ ศรีนารา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา พร้อมด้วยทีมนิสิตที่ช่วยควบคุมการฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน ประกอบด้วย นายพิสิษฐ์ ผลาสิงห์ นายพชระ ข้างแก้ว นายจิรายุทร คำมูล
ผศ.ปิยพงษ์ สุวรรณมณีโชติ เปิดเผยว่า ผลจากความขยันหมั่นเพียรในการฝึกซ้อมของนิสิตตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือน ทำให้คณะเราคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ ซึ่งครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ ม.พะเยา คว้าแชมป์มาครอง โดยนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยาออกแบบส่วนผสมคอนกรีตได้เหมาะสมและลงตัวที่สุด คือ สามารถหาจุดสมดุลระหว่างน้ำหนักที่เบาแต่มีประสิทธิภาพรับกำลังอัดได้สูงสุด อีกทั้งมีเทคนิคเฉพาะตัวในการหล่อก้อนคอนกรีต โดยเฉพาะขั้นตอนกระทุ้งแน่น ซึ่งกลายเป็นที่จดจำของบรรดาผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทคอนกรีตประสิทธิภาพสูง ได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาครอง ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูสถิติในอดีต พบว่า มหาวิทยาลัยพะเยา (สมัยที่เป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา) เข้าร่วมการแข่งขันฯ ครั้งที่ 4 เป็นครั้งแรก และล้มลุกคลุกคลานกับการลองผิดลองถูกเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จสูงสุดกับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันฯ ครั้งที่ 7 และ 8 ซึ่งถือได้ว่า มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นสถาบันการศึกษาแรกที่ได้รับเกียรติในการครองถ้วยพระราชทานมากที่สุดถึงสามถ้วยจากการแข่งขันตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
นายพิสิษฐ์ ผลาสิงห์ นิสิตชั้นปีที่ 4 พี่เลี้ยงที่ช่วยฝึกสอนและหนึ่งในทีมสนับสนุน กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการแข่งขันครั้งก่อน ผมได้นำมาเล่าให้น้องๆ ฟังว่าเราจะเจออะไรบ้าง มีความกดดันในรอบการแข่งขันอย่างไร และให้น้องเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายจิตใจสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ โดยหลักๆ พยายามให้น้องซ้อมเหมือนอยู่ในการแข่งขันจริงๆ ให้นึกอยู่ตลอดเวลาว่า กำลังแข่งและตอนแข่งขันก็ให้ทำบรรยากาศเหมือนตอนซ้อมจะได้ไม่ต้องกดดันมากและไม่ตื่นเต้นจนเกินไป น้องๆ จะได้มีสมาธิในการแข่งขัน นอกจากนี้ ผมก็ช่วยอาจารย์ดูแลน้องๆ สอนเทคนิคต่างๆ ให้
นายวีรณัฐ สุริยะ หรือ “คิว” นิสิตชั้นปีที่ 2 หนึ่งในทีมเข้าร่วมการแข่งขัน กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สามารถคว้าแชมป์ครั้งที่ 3 มาให้มหาวิทยาลัย ครั้งนี้ มีรุ่นพี่ปี 4 และรุ่นน้องปี 1 ร่วมเป็นทีมสนับสนุนเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้ก่อนการแข่งขัน สิ่งที่เราได้จากการแข่งขันครั้งนี้ คือ ประสบการณ์และความรู้ และที่แน่ๆ เลย คือ ความภูมิใจ ผมไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งอะไรมากมาย แต่เมื่อได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัย จึงพยายามทำเต็มที่และผลของความพยามทำให้เราประสบความสำเร็จในการแข่งขัน แสดงให้เห็นว่า หากมีความพยายามมากพอแล้ว ที่สุดความสำเร็จย่อมตามมา มันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้จริง
ที่มา : http://www.banmuang.co.th/news/education/49948