ภาษีรร.กวดวิชา

ศึกษาธิการ – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2558 ที่ห้องประชุมจันทรเกษม ในประเด็นนโยบายการจัดเก็บภาษีของโรงเรียนกวดวิชา รวมทั้งความคืบหน้าพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

โยบายการจัดเก็บภาษีของโรงเรียนกวดวิชา

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายการจัดเก็บภาษี ซึ่งรวมถึงโรงเรียนกวดวิชาว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รายงานตัวเลขโรงเรียนกวดวิชาที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีทั่วประเทศ 2,379 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 549 แห่ง และภูมิภาค 1,830 แห่ง ซึ่งได้มีการหารือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจากโรงเรียนกวดวิชา มีข้อยุติว่าให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาด้วย โดยกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรจะเป็นผู้พิจารณากฎระเบียบ อย่างไรก็ตาม มีทางอ่อนตัวในเรื่องของการลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีที่โรงเรียนกวดวิชามีการดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์ ก็มีหลักเกณฑ์อยู่แล้วว่าจะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้

ส่วนกรณีเมื่อมีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาแล้ว จะมีผลทำให้ต้องปรับค่าเรียนกวดวิชาหรือไม่นั้น รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ แต่โดยปกติโรงเรียนกวดวิชามีกำไรอยู่แล้วเพราะดำเนินการในเชิงพาณิชย์ หากจะปรับขึ้นค่าเรียนกวดวิชา จะต้องทำเรื่องขออนุญาตให้ สช. พิจารณาก่อน ซึ่ง สช. ก็จะต้องพิจารณาว่าจะให้ปรับขึ้นได้หรือไม่


ความคืบหน้าเรื่อง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่อง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาว่า จะมีการนำเสนอ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงการคลัง ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม 2558 คาดว่าจะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือนธันวาคม 2558

การจัดตั้งสถาบันฯ จะใช้งบประมาณลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ICT มาใช้ในการพัฒนาการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส และผู้ที่อยู่ในวัยเรียนทั่วไป โดยสร้างเนื้อหาการเรียนรู้ที่เป็นดิจิทัล จัดทำสื่อการเรียนรู้ ซอฟต์แวร์ หรือแม้กระทั่งแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา รวมไปถึงการจัดทำซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นเพื่อพัฒนาครูจากทางไกลได้

ทั้งนี้ จะใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ภายในเดือนมิถุนายน 2558 เพื่อดำเนินงานก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะผ่านมติเห็นชอบ โดยนอกจากงบประมาณลงทุนจาก กสทช.แล้ว จะนำงบประมาณส่วนที่เหลือส่วนหนึ่งจากโครงการแท็บเล็ตของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในการจัดทำสื่อเพื่อการเรียนรู้ด้วย

กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
11/3/2558