ภารกิจที่มหาสารคาม

จังหวัดมหาสารคาม – เมื่อวันพุธที่ 14 มิถุนายน 2560 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมแถลง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการศึกษา” จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ณ โรงแรมตักศิลา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการสภาการศึกษา รองเลขาธิการฯ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด อธิการบดี ครูอาจารย์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 20 จังหวัด เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ประมาณ 500 คน



ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ จัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ครอบคลุมการดำเนินงานเพื่อจัดการศึกษาเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัยในหลากหลายรูปแบบ ตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และพลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลงไป


สิ่งสำคัญต่อจากนี้ คือการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับภาพรวมและระดับพื้นที่ โดยเน้นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในระดับพื้นที่ ความร่วมมือจะเป็นไปตามศักยภาพของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีลักษณะและความพร้อมแตกต่างกัน ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาลูกหลานให้ตอบสนองต่อบริบทของพื้นที่ที่แตกต่างไปด้วย ทั้งนี้ ทุกฝ่ายคาดหวังที่จะให้ลูกหลานเยาวชนได้ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อกลับมาพัฒนาจังหวัดตนเอง มากกว่าไปทำงานที่อื่น


นอกจากนี้ ควรมีการเชื่อมโยงแผนการศึกษาแห่งชาติ กับแผนพัฒนาการศึกษาระยะ 5 ปี แผนปฏิบัติราชการระยะ 4 ปีของกระทรวงศึกษาธิการ และแผนปฏิบัติการประจำปีของหน่วยงาน องค์กร พร้อมคิดหากลยุทธ์ให้นักเรียนสนใจตั้งใจเรียนหนังสือ ทำให้นักเรียนอยากมาโรงเรียน รวมทั้งมีการฟื้นฟูชั่วโมงโฮมรูมในโรงเรียนทุกแห่ง และจัดหาครูแนะแนว เพื่อช่วยชี้นำให้เด็กรู้ความชอบของตนเองและเดินไปได้ถูกทาง รวมทั้งจัดหาครูจบพลศึกษาโดยตรงมาสอน พร้อมจัดระบบติดตามประเมินผลต่อไป


ในส่วนการเรียนรู้ของประชาชนทั่วไป ก็ต้องจัดให้ได้เรียนรู้ศาสตร์หรือทักษะที่สนใจ แม้ว่าไม่ได้อยู่ในวัยเรียน หรือเกษียณไปแล้วก็ตาม เรียกว่าเป็นการจัดการเรียนรู้ในทุกช่วงวัยด้วย



อีกเรื่องที่สำคัญมาก คือ ให้ทุกฝ่ายร่วมขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน จับต้องได้ ซึ่งมีอยู่ในแผนการศึกษาแห่งชาติอย่างครอบคลุมแล้ว จึงย้ำให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ตลอดจนนักศึกษาฝึกสอน ให้ช่วยน้อมนำหลักปรัชญาหรือศาสตร์พระราชา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานสอนไว้ มาปรับใช้ในการดำรงชีวิต อาทิ ในเรื่องความเป็นครูอาชีพ, การที่ครูรักเด็ก เด็กรักครู เป็นต้น เพียงเท่านี้ โรงเรียนก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนนักเรียนก็จะเป็นต้นแบบตามความคาดหวัง กล่าวคือมีความมุ่งมั่นขวนขวายศึกษาเล่าเรียน สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น มีโอกาสเรียนรู้การสื่อสารภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้าน พร้อมมีความยึดมั่นในศักดิ์ศรีของคนไทย มีความซื่อสัตย์สุจริต


ทั้งนี้ ขอฝากข้อคิดที่ดีต่อการดำรงชีวิต 20 ประการ ที่จะนำไปสู่ความสุขสวัสดิ์ต่อตนเอง ได้แก่ การสำนึกบุญคุณคนที่ดีต่อเรา, การเลือกเพื่อนอย่างชาญฉลาด, มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น, หมั่นเรียนรู้, แก้ไขปัญหาได้ (โดยไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ยกตนข่มท่าน), ทำในสิ่งที่รักและชอบ, อยู่กับปัจจุบัน, หัวเราะบ่อย ๆ, ให้อภัยผู้อื่น, กล่าวขอบคุณเสมอ, สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนที่คบหาสมาคม, รักษาคำมั่นสัญญา, รู้จักการทำสมาธิ, ตั้งมั่นในสิ่งที่กำลังทำ, มองโลกในแง่ดี, รักอย่างไม่มีเงื่อนไข, ไม่ยอมแพ้ท้อแท้, ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด (ไม่ยึดติดอำนาจวาสนา), ดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี และมุ่งมั่นตอบแทนสังคม



โอกาสที่ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดมหาสารคาม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้พบปะครู นักเรียน ที่โรงเรียนผดุงนารี และโรงเรียนสารคามพิทยาคม รวมทั้งพบปะนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.เมืองมหาสารคาม เพื่อร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมอีกด้วย


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้ย้ำถึงการเดินทางครั้งนี้ว่า มีความยินดีที่ได้มาเยือนจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งถือเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ล้ำค่า ดังคำขวัญประจำจังหวัด “พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักศิลานคร” ดังนั้นทุกคนควรรักและสามัคคีกัน เพื่อดำรงความมีเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคามตราบนานเท่านาน


สิ่งสำคัญที่สุด คือ ได้ขอความร่วมมือสถานศึกษาทั้ง 3 แห่ง ร่วมดำเนินงานขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ “โรงเรียนคุณธรรม” ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) การมีอุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม หากสถานศึกษาได้นำมาผนวกกับ “ศาสตร์พระราชา” ด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้ดำเนินการด้วยความราบรื่น



โดยครูจะเป็นกลไกที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝัง อบรม บ่มสอน ให้เด็กเป็นทั้งคนดีคนเก่ง เรียกได้ว่า “ครูสร้างเด็ก เพื่อเด็กไปสร้างชาติ” ผ่านชั่วโมงโฮมรูมและมีครูแนะแนวให้คำปรึกษาได้ถูกทิศถูกทาง การสร้างความรักความผูกพันระหว่างกัน ทำให้ครูรักเด็กเมตตาเด็ก ให้เด็กรักครูเชื่อฟังครู เด็กมีภูมิคุ้มกันไม่ทำเรื่องไม่เหมาะไม่ควร รวมทั้งครูและผู้บริหารที่ไม่ตามกระแสสังคม อันจะนำความเสื่อมมาสู่วงการศึกษา ที่จะทำให้ความสงบสุขลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา การนำหลักการและระเบียบวิธีคิดต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน กำหนดเป้าหมาย ขอบเขต ก่อนการทำงาน พร้อมใช้สติปัญญาและวิจารณญาณในการแก้ปัญหา ก็จะทำให้งานสำเร็จด้วยความราบรื่นเรียบร้อย



นอกจากนี้ ม.ล.ปนัดดา ได้ฝากแนวคิดในการจัดทำงานวิชาการต่าง ๆ ของนักเรียนนักศึกษา ควรปลูกฝังให้เด็กรู้จักการอ้างอิง หรือจัดทำบรรณานุกรมให้ครบถ้วน เพื่อรักษาจรรยาบรรณและให้เกียรติต่อผู้คิดค้นข้อมูล ซึ่งถือเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกถือปฏิบัติ



นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
15/6/2560