ฟังความคิดเห็นอธิการบดี

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) – นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ   นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ  นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นายสามารถ แก้วมีชัย  และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รับฟังความคิดเห็นจากอธิการบดีและผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ 

รมว.ศธ.กล่าวในที่ประชุมว่า เพิ่งเดินทางกลับจากฝรั่งเศส เพื่อไปเข้าร่วมประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 37 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส เมื่อทำหน้าที่กล่าวต่อที่ประชุมเต็มคณะ (Plenary) เสร็จสิ้นแล้วก็รีบเดินทางกลับมา เพราะเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองคงต้องมาช่วยกันคิด และทราบว่า รมช.ศธ.(เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช) ได้กรุณาเชิญท่านอธิการบดีมาปรึกษาหารือ จึงขอขอบคุณ รมช.ศธ. อธิการบดี รองอธิการบดี รวมทั้งผู้แทนมหาวิทยาลัยทุกท่านที่ได้มาร่วมหารือในครั้งนี้

 ศธ.มีความเข้าใจอย่างดีว่า การแสดงความคิดเห็นถือเป็นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีประชาคม มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ พึงได้รับการเคารพอย่างเต็มที่ ซึ่งตนถือเป็นนโยบายเช่นนี้มาโดยตลอด ดังนั้นสิ่งที่คิดว่าจะขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยได้ก็คือมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ที่ได้รวบรวมบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องด้านกฎหมาย การเมือง การปกครอง จึงขอช่วยให้คำแนะนำและความเห็นว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราจะหาทางออกกันอย่างไร ทำอย่างไรให้สังคมเดินไปสู่จุดที่ถูกต้อง และทุกฝ่ายสบายใจ

จากการหารือ ก็มีความเห็นชัดเจนว่า ศธ.และรัฐบาลเข้าใจและเคารพในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการของประชาคมมหาวิทยาลัย ขอย้ำว่าเรามีความเคารพในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นไม่มีการที่จะไปขอร้องให้มหาวิทยาลัยทำอะไรอย่างไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง แต่สิ่งที่เราขอคือความเห็นและคำแนะนำ ซึ่งก็ได้พบว่าในวันนี้มีความเห็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ที่สำคัญๆ 2-3 จุด คือ

เรื่องแรก คือ เรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้มีความมั่นใจได้ว่าทางสภาผู้แทนราษฎรจะไม่หยิบยกร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมาพิจารณาอีก หลังจากที่วุฒิสภาได้ลงมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.นี้แล้ว ผ่านพ้นไป 180 วัน ก็มีข้อเสนอในแง่มุมต่างๆ รวมไปถึงการที่ให้คณะรัฐมนตรีมีมติยืนยันไว้ว่า ถ้าหากมีความพยายามหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีกก็จะยุบสภา เป็นต้น นี่ก็เป็นข้อเสนออย่างหนึ่ง ที่ห่วงใยร่วมกันก็คือว่า ทำอย่างไรจะเกิดความมั่นใจว่า จะไม่มีการหยิบยกกฎหมายนี้ขึ้นมาพิจารณาอีก

ส่วนที่สอง คือ มีคำแนะนำว่าทางฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่ควรที่จะมีการพูดถึงข้อดีของร่าง พ.ร.บ.นี้อีกแล้ว เพื่อที่จะไม่เป็นการไปสะกิดหรือไปทำให้ฝ่ายที่ต่อต้านคัดค้านยังมีความรู้สึกว่า ผู้เสนอร่างก็ดี ผู้ที่แก้ไขร่างก็ดี ยังเห็นด้วยหรือเห็นดีกับร่าง พ.ร.บ.นี้อยู่

ส่วนที่สาม คือ การที่จะทำให้สร้างบรรทัดฐาน นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานที่ดี ในการที่ทางฝ่ายรัฐสภาและฝ่ายเสียงข้างมากควรจะรับฟังเสียงข้างน้อย และมีข้อเสนอจากหลายเสียงในที่ประชุมครั้งนี้ด้วยว่าต้องการเห็นการแสดงความรับผิดชอบและขอโทษ ขออภัย จากบุคคลที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งได้มีการแสดงความเห็นไว้ด้วยว่าในกรณีนี้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติและของพรรคการเมือง ไม่ใช่ของฝ่ายบริหาร บางท่านก็ได้พูดชัดเจนว่า ไม่เห็นว่านายกรัฐมนตรีจะควรเป็นผู้ขอโทษ เพราะนายกรัฐมนตรีได้ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์จากการที่ได้เสนอให้มีการถอยหรือมีการกลับลำได้ทันเวลา แต่ว่าผู้ที่จะขอโทษคือฝ่ายนิติบัญญัติหรือพรรคการเมืองมากกว่า

 ความเห็นต่างๆ เหล่านี้ รัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) จะได้รวบรวมความเห็นต่างๆ เหล่านี้ไปเพื่อหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง อะไรที่ดำเนินการได้และเป็นไปโดยถูกต้อง ก็จะรีบไปดำเนินการโดยเร็วต่อไป เพื่อให้เกิดความสบายใจร่วมกันต่อไป

 
ภาพ บัลลังก์ โรหิตเสถียร by LG G2

 

ประเด็นคำถามเพิ่มเติมจากสื่อมวลชน

คำถาม ได้ขอให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ยุติการต่อต้านหรือไม่
รมว.ศธ.
 : ไม่มีการขอร้องให้มหาวิทยาลัยไปดำเนินการใด ย้ำว่ารัฐบาล และ ศธ.มีความเข้าใจอย่างดีว่า มหาวิทยาลัยมีเสรีภาพทางวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

คำถาม เปิดโอกาสให้มีการเช็คบิลกันภายหลังหรือไม่
 รมว.ศธ. : ไม่มีอย่างแน่นอน ไม่มีอำนาจอยู่แล้วด้วย และไม่มีในความคิดเลย เพราะฉะนั้นเป็นข้อความแรก เป็นประโยคแรกที่ผมพูดอยู่แล้วในวันนี้ว่า ศธ. เข้าใจอย่างดี และเคารพในเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาคมมหาวิทยาลัย วันนี้ก็ยืนยันอย่างนี้ตลอดมา ผมเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่คราวก่อน เคยอยู่ในวิกฤตการเมืองก็ยืนยันหลักการนี้ มาวันนี้ก็ยืนยันหลักการอย่างเดิม

คำถาม จะมีแนวทางการให้สัตยาบรรณกับประชาชนอย่างเป็นทางการหรือไม่
 รมว.ศธ. : เรื่องสัตยาบรรณเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นข้อเสนอในวันนี้ เป็นส่วนของการที่จะมีวิธีการอะไรที่ทำให้สังคมเกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีก ก็มีอธิการบดีบางท่าน เสนอว่าน่าจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงสัตยาบรรณ เป็นเรื่องหนึ่งที่เสนอในที่ประชุม ซึ่งท่านพงศ์เทพจะรับไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผมพยายามรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ โดยไม่นำเอาความเห็นส่วนตัวมาว่า เรื่องไหนเห็นด้วยแล้วจะไปเสนอ เรื่องไหนไม่เห็นด้วยไม่ไปเสนอ ในวันนี้เป็นลักษณะที่รวบรวมความเห็นทั้งหลาย จับประเด็นความเห็นต่างๆ และนำเสนอผู้ที่เกี่ยวข้อง และบังเอิญว่า รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องกฎหมายก็มาฟังเองอยู่แล้ว

คำถาม ทั้งการขอโทษและการให้สัตยาบรรณจะต้องทำในส่วนนิติบัญญัติอย่างเดียว หรือทางบริหารต้องทำด้วย เพราะว่าให้การสนับสนุน
 รมว.ศธ. : ในส่วนสัตยาบรรณก็มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร เช่น ข้อเสนอบางท่านบอกว่า ถ้าสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติพยายามจะยกขึ้นมาอีก จะให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลยุบสภา นี่เป็นข้อเสนออย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้อง แต่ในส่วนที่ต้องขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบ ในที่ประชุมไม่มีการพูดถึงทางฝ่ายบริหาร กับมีบางท่านมีความเห็นว่า การขอโทษต้องเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะขอโทษ หมายถึงต้องถูกคน ต้องไปเลือกคนให้ถูก ซึ่งผู้ที่แสดงความเห็นนั้นก็ระบุด้วยว่า ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่งั้นก็จะกลายเป็นผิดฝาผิดตัว คือควรจะหาผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องโดยตรง และเมื่อแสดงความรับผิดชอบขอโทษแล้ว เป็นเรื่องทำให้ผู้คนหรือสังคมได้เห็นว่า ผู้ที่รับผิดชอบก็ได้ขอโทษแล้ว นี่ผมก็ตีความจากที่มีการชี้แจง

คำถาม การขอโทษครอบคลุมประเด็นไหนบ้าง
 รมว.ศธ. : ในที่ประชุมไม่ได้ระบุชัดเจน ก็แสดงความเห็นว่า ให้คิดคำขอโทษสั้นๆ แต่ให้ตรงประเด็นชัดเจน ส่วนประเด็นชัดเจนคืออะไรไม่ได้พูดในรายละเอียด ผู้ที่ดำเนินเรื่องมา ผู้ที่รับผิดชอบ น่าจะสามารถเข้าใจได้ถ้าหากว่าเห็นด้วยที่จะทำอย่างนั้น

คำถาม นายกรัฐมนตรีเคยแถลงให้การสนับสนุนร่างฉบับนี้ ควรจะมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง
 รมว.ศธ. : ผมไม่ทราบ ผมไม่ใช่อยู่ในวิสัยที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้ วันนี้เป็นเรื่องมารับฟังความคิดเห็นท่านอธิการบดีทั้งหลาย ก็ควรจะรวบรวมความเห็นไป ถ้าให้ผมมาแสดงความคิดเห็นไปในทางที่เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง ก็จะกลายเป็นหักล้างบ้าง หรือสนับสนุนบ้าง ก็จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับความเห็นของที่ประชุมนี้อย่างตรงไปตรงมา

คำถาม : การเมืองขณะนี้ระหว่างนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารแทบจะแยกกันไม่ได้ มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ตรงนี้จึงต้องมีความรับผิดชอบด้วยหรือไม่
 รมว.ศธ. : วันนี้ในที่ประชุม อธิการบดีบางท่านก็พูดชัดเจนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าให้ฝ่ายบริหารมาแสดงความรับผิดชอบหรือมาแสดงอะไรมากไปกว่านี้อีก ก็จะเกิดปัญหาใหม่ ก็คือว่าไม่มีความเป็นอิสระจากกัน นี่เป็นความเห็นของท่านอธิการบดี ในเรื่องนี้ผมต้องขออภัยที่จะหลีกเลี่ยงไม่แสดงความเห็นส่วนตัว เพราะว่าเป็นการประชุมที่รับฟังความเห็นท่านอธิการบดีทั้งหลาย

 

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
8/11/2556