“ปลัด ศธ.” เผย พ.ร.บ.ใหม่ กยศ.ลดจำนวนบอร์ดเหลือ 12 คน โดยลดตัวแทนจาก สกอ., สกศ. สมาคม รร.เอกชน-ม.เอกชน เพื่อเปิดทางให้ปลัด ศธ.เป็นกรรมการคนเดียวที่เป็นตัวแทนจาก ศธ. พร้อมตั้งอนุ กก.ประเมินสถานศึกษา เผยกติกากู้ยืมใหม่ ให้เด็กเซ็นยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชำระหนี้ได้
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 นั้น ตนได้ศึกษารายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ ในหมวดที่ 2 เรื่องคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืม ซึ่งมีการปรับลดจำนวนกรรมการเหลือ 12 คน จากเดิม 16 คน โดยจะลดกรรมการในส่วนเลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมสมาพันธ์การศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ทั้งยังปรับให้ปลัด ศธ.เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง จากเดิมที่อยู่ในตำแหน่งรองประธาน พร้อมทั้งเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาเข้ามาในคณะกรรมการด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของคณะอนุกรรมการ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษา และให้ปลัด ศธ.เป็นประธานอนุกรรมการ ส่วนกรรมการจะมาจากผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ผู้แทนสำนักงานงบประมาณ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน และมีผู้จัดการกองทุนเป็นเลขานุการ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้จะทำให้ ศธ.มีบทบาทในการกำกับ ติดตามสถานศึกษา ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ด้วย ซึ่งส่งผลให้คณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 1 และ 2 หมดวาระลงทันที
“ข้อดีของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้คือ เรื่องการเปิดเผยข้อมูล ซึ่ง กยศ.สามารถขอข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามทวงหนี้ได้ และสามารถแจ้งให้นายจ้างหักเงินผู้กู้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการของสรรพากรเพื่อหักเงินเข้ากองทุน ซึ่งจะทำให้เกิดการชำระหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดหนี้สูญ โดยจากนี้ก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืม ผู้กู้จะต้องเซ็นยินยอมให้หักเงินได้ทันทีด้วย และเมื่อมีการชำระหนี้เข้ากองทุนก็จะมีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้กู้รายใหม่ด้วย” ปลัด ศธ.กล่าว.
ที่มา: www.thaipost.net