ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวประดินันท์ สดีวงศ์) ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม


          เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563  เวลา 09.00 น. นางสาวประดินันท์ สดีวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และนายธันญ์สุธี ภัคธารีรัตน์ รองศึกษาธิการจังหวัด รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดนครพนม บุคลากรกลุ่มตรวจราชการและติดตามประเมินผล ศธภ.11 และคณะศึกษานิเทศก์จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครพนม ได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี ผศ.ดร.พันตรี โคมพิทยา ผู้อำนวยการวิทยาลัยธาตุพนม คณะครูและนักเรียนให้การต้อนรับ


          วิทยาลัยธาตุพนม เปิดสอนในระดับอาชีวศึกษาถึงระดับปริญญาตรี มีนักเรียนทั้งหมด 1,148 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 70 คน จัดการเรียนการสอนการปฏิบัติเพื่อฝึกทักษะสู่การปฏิบัติงานจริงในอนาคต นักศึกษาได้ฝึกกระบวนการคิดและสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบัน โดยนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีในท้องถิ่น และได้จัดการศึกษาระบบทวิภาคีโดยความร่วมมือกับสถานประกอบการซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ เช่น บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (BJC)  บริษัท อาร์ วี ตอนเน็กซ์ จำกัด เป็นต้น ซึ่งผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาจากระบบทวิภาคีในปัจจุบันมีทำงาน 100%


          วิทยาลัยธาตุพนมได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์มากมาย ซึ่งควรได้รับการพัฒนาและต่อยอดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น


– เครื่องฝานกล้วยฉาบ สามารถลดเวลาในการฝานกล้วยด้วยแรงงานคนได้ 1-2 นาที


– เครื่องแกะและปลอกกลีบกระเทียม สามารถแกะและปลอกกลีบกระเทียมได้ไม่น้อยกว่า 25 กิโลกรัมต่อชั่วโมง


– รถสามล้อไฟฟ้า สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุเพื่อความปลอดภัย ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางและหาเลี้ยงชีพ ลดภาระของครอบครัว


– เรือเก็บขยะควบคุมผ่านวิทยุ ช่วยกำจัดขยะในแม่น้ำลำคลองโดยไม่ต้องใช้กำลังคนมาก


– ตู้กลั่นเอทานอลพลังงานรังสีอาทิตย์แบบเทอร์โมไซฟอน เป็นเครื่องกลั่นเอทานอลที่ใช้พลังงานรังสีอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงาน ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้วัตถุดิบจากการเกษตรมากลั่นเป็นเอทานอล ซึ่งสามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เจลล้างมือ สเปรย์ไล่ยุง เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์การเกษตรของเกษตรกร


ที่มา : สำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล สป.