ผู้ช่วยฯ สิริพงศ์ เปิดงาน STEM Synergy for Transforming the Future of Education ยกระดับคุณภาพการจัดการสะเต็มศึกษา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันนี้ (17 มกราคม 2567) เวลา 11.00 น. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในการเป็นประธานในการกล่าวเปิดงาน STEM Synergy for Transforming the Future of Education ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science ระยะที่ 2 โดยมี ผศ.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ดาตุ๊ก ดร. ฮาบิบะ (Datuk Dr. Habibah Abdul Rahim) ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

ผู้ช่วยฯ สิริพงศ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนกำลังเผชิญความท้าทายด้านการศึกษาที่หลากหลาย ทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในการแก้ไขปัญหา คือการเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้มีทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ปรับตัวในสถานการณ์ที่พลิกผันได้ตลอดเวลา เพราะผู้ที่สามารถใช้ความรู้ ทักษะชีวิต และอาชีพได้ดีกว่า จะมีโอกาสเหนือกว่าคู่แข่งขันในตลาดและประสบความสำเร็จในอนาคต

การจัดงาน “STEM Synergy for Transforming the Future of Education การแชร์ผลลัพธ์ความสำเร็จและทิศทางการสานต่องาน Chevron Enjoy science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ระยะที่ 2” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโครงการรัฐร่วมเอกชนที่ดำเนินมายาวนานถึง 8 ปี จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาอนาคตของชาติ ด้วยการยกระดับคุณภาพการจัดการสะเต็มศึกษา ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการบูรณาการความรู้ 4 สาขาวิชา (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เพื่อสร้างกำลังคนคุณภาพสำหรับศตวรรษที่ 21

“การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน เป็นหนึ่งในนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียน เพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เยาวชนของไทย ในนามของ ศธ. พร้อมที่จะสนับสนุนสะเต็มศึกษา โดยยินดีที่จะให้การสนับสนุนแก่ผู้ที่สามารถจัดสรรนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาสะเต็มศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นโมเดลต้นแบบเพื่อยกคุณภาพสะเต็มศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยั่งยืนต่อไป” ผู้ช่วยฯ สิริพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานมีการเผยแพร่ผลลัพธ์จากการศึกษาวิจัยประสิทธิผลของโมเดลการดำเนินงานฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และผลักดันสู่การกำหนดนโยบายด้านสะเต็มศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพสะเต็มศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ: ปชส. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

สุวิชา บุญญานุพงศ์: สรุป/กราฟฟิก

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

17/1/2567