ผลการประชุมประสานภารกิจ 17/2568

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2568) เวลา 08.00 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 17/2568 ณ ห้องประชุม

ราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ ไม่มีวาระที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. แต่ขอให้ทุกหน่วยงานติดตามเรื่องที่ได้นำเสนออย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดวานนี้ ได้ให้สถานศึกษาบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองจังหวัดและตำรวจภูธร ในการกำกับ ติดตาม ดูแล และกำชับมิติ “พื้นที่จังหวัดสีขาว” ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งจังหวัดและทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือสถานที่ทำงาน โดยต้องรวมถึงการปราศจากยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า และปราศจากการใช้ความรุนแรงและใช้อาวุธทำร้ายกัน พร้อมให้สถานศึกษาเน้นการสอนเกี่ยวกับการรู้เท่าทันภัยยาเสพติดตั้งแต่ปฐมวัย

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับทราบว่ามีการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล โดยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้วิเคราะห์คำถามในกิจกรรมปิดเทอมใหญ่ เด็กไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และนำผลการวิเคราะห์ส่งต่อสู่ ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อเติมเต็มนักเรียนในส่วนที่ต้องการการพัฒนา และได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เผยแพร่ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ฉบับปรับปรุงปี 2568 จำนวน 17 เล่ม ประกอบด้วย การอ่าน 5 เล่ม, วิทยาศาสตร์ 6 เล่ม และคณิตศาสตร์ 6 เล่ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา : https://d2ieq.ipst.ac.th รวมถึงจัดกิจกรรมให้ความรู้ ภายใต้ชื่อ “เพิ่มพูน สมรรถนะความฉลาดรู้” ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ให้แก่นักเรียนระดับชั้น ม. 2 – 4 และผู้สนใจ รับชมผ่านช่องทาง OBEC Channel (YouTube, Facebook, และ OBEC TV) ในวันที่ 28, 29 และ 30 พ.ค. 2568

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รายงานเกี่ยวกับ Education Benchmarking ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบการศึกษาไทยในระดับสากลที่เน้นเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึงมากกว่าการจัดอันดับ (Ranking) ใน 5 มิติ ได้แก่ คุณภาพผู้เรียน (Quality) การเข้าถึงระบบการศึกษา (Access) ความเท่าเทียมทางการศึกษา (Equity) ประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา (Efficiency) และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง (Relevancy) ผลการเปรียบเทียบพบว่า ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีภาพรวมใน 5 มิติ ใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซียและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และในระดับเอเชียใกล้เคียงกับสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้เห็นว่า การศึกษาไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะเทียบเคียงกับระดับนานาชาติได้ พร้อมนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับทราบรายงานผลการเบิกจ่ายและผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยภาพรวมของการเบิกจ่าย คิดเป็นร้อยละ 67.66 และภาพรวมการใช้จ่าย ร้อยละ 73.67 ซึ่ง รมว.ศธ. ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการเบิกจ่าย และกำกับ ติดตามให้ผลการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย

“ขอฝากนโยบายของนายกรัฐมนตรีเรื่อง Thailand Zero Dropout ซึ่งนอกจากติดตามเด็กที่หลุดจากการศึกษา ต้องเฝ้าระวังเด็กที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยให้ยึดถือการทำงานตามมิติ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” เมื่อกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ต้องทำให้มั่นใจว่าจะไม่ออกนอกระบบอีก และขอให้แต่ละหน่วย โดยเฉพาะสถานศึกษา ดำเนินการจัดทำแผน/มาตรการป้องกันภัยธรรมชาติ อาทิ วาตภัย อุทกภัย เนื่องจากอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผลกระทบจากความเสียหายทางภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้น และขอให้จัดทำมาตรการป้องกันปัญหายาเสพติด และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาและที่ทำงาน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิผลสูงสุด” รมว.ศธ. กล่าว

พิชญ์พิศุทธ์ ทิมวัฒน์ : สรุป

นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง

กิตติกร, ฤทธิเกียรติ์, ทิพย์สุดา : ถ่ายภาพ

ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว : กราฟิก

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. : รายงาน

28/5/2568