’ปูป้า แอนิเมชั่น’ของเด็กศิลปากรคว้าที่1’ทีเค แอนิเมชั่น เทรนนิ่ง’

‘ปูป้า แอนิเมชั่น’ของเด็กศิลปากรคว้าที่1’ทีเค แอนิเมชั่น เทรนนิ่ง’

 
อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย โดยเฉพาะในด้านแอนิเมชั่นมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันไทยยังขาดแคลนแรงงานด้านนี้อยู่มาก แม้ขณะนี้สถานศึกษาต่าง ๆ จะมีการเปิดสอนด้านมัลติมีเดียอยู่หลายแห่งแล้วก็ตาม

ทางสำนักงานอุทยานการเรียนรู้  (สอร.) จึงจัดโครงการ “ทีเค แอนิเมชั่น เทรนนิ่ง ตอน ขบวนการขัดเงา (Polishing Process) –TK PoP 2010” เพื่อเป็นเวทีช่วยพัฒนาทักษะและความสามารถของนิสิตนักศึกษา ให้นำความรู้และคำแนะนำจากมืออาชีพไปสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลงานใหม่ ๆ หรือใช้ต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพในอนาคต

โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการ คือ น้อง ๆ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี ผลงานชื่อ ปูป้า แอนิเมชั่น (PUPA ANIMATION) มีสมาชิก ประกอบด้วย นายจักรพันธ์ กาญจนะประยูร นายปิฎก หมู่หมื่นศรี นายศิวพงษ์ มงคลเปี่ยม นายภัทร ถิรมงคล และนายกัณฐพนต์ ภัทรพนาสกุล ทั้งหมดศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการออกแบบ เอกแอนิเมชั่น

นายกัณฐพนต์ เป็นตัวแทนเพื่อน กล่าวว่า ผลงานแอนิเมชั่นที่สร้างขึ้นเป็นผลงานใหม่ทั้งหมด แม้ว่าโครงการจะเปิดโอกาสให้สามารถนำผลงานเก่า ๆ ของรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยมาทำใหม่ได้ โดยแอนิเมชั่นเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับวงจรชีวิตของผีเสื้อตัวหนึ่งที่ใช้เวลานานกว่าจะมีพัฒนาการตั้งแต่เป็นหนอนดักแด้ในรังจนกลายเป็นผีเสื้อบินได้ แต่กลับถูกเด็กซน ๆ คนหนึ่งใช้มือตบตายด้วยเวลาไม่กี่วินาที
   
“แอนิเมชั่นชิ้นนี้มีความยาว 1.30 นาที ใช้เวลาในการสร้างหนึ่งเดือนครึ่ง ด้วยโปรแกรมมายา และโปรแกรมอาฟเตอร์ เอฟเฟกต์ โดยแนวคิดได้นำเรื่องของธรรมชาติมาสื่อให้คนดูได้เห็นว่ากว่าธรรมชาติจะสร้างตัวเองได้ต้องใช้เวลานานมาก แต่กลับถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ด้วยเวลาไม่นาน”
   
นายกัณฐพนต์ กล่าวต่อว่า ความยากอยู่ที่การคิดเนื้อเรื่อง และการออกแบบคาแรกเตอร์ตัวเด็ก และตัวหนอน การให้แสง และสี เพื่อให้ภาพแอนิเมชั่นออกมาสวยงาม และการตัดต่อและใส่เสียงและดนตรีประกอบ ซึ่งทุกคนในทีมยังไม่เคยสร้างงานแอนิเมชั่นเพื่อส่งเข้าประกวดมาก่อน  ถือว่าได้ประสบการณ์จากโครงการนี้อย่างมาก โดยเฉพาะการได้เข้าร่วมอบรมการสร้างแอนิเมชั่นจากผู้ประกอบอาชีพนี้จริง ๆ  จนรู้ถึงกระบวนการผลิตผลงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ

อย่างไรก็ตามนอกจากผลงานชนะเลิศแล้ว  ยังมีผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 2  คือ ผลงานชื่อบานาน่า จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม เนื้อเรื่องเกี่ยวกับลิงที่ซุกซนวิ่งไล่จับกล้วยเพื่อนำมากิน และรางวัลที่ 3 คือผลงานชื่อเดลิเวอรี่ จาก มหาวิทยาลัยรังสิต มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการไล่ล่าปลาของคนป่า

สรุปแล้วผลงานของน้อง ๆ ทั้งสามทีม ถือว่ามีฝีมือไม่แพ้มืออาชีพจริง ๆ  เมื่อเทียบกับระยะเวลาการสร้างผลงานที่มีอยู่อย่างจำกัด!!.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์
JirawatJ@dailynews.co.th