ปรับปรุงหลักสูตร

ศึกษาธิการ – ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 17/2557 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ในประเด็นการปรับปรุงหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายการบริหารราชการของ คสช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

  • การปรับปรุงหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักสูตรในด้านการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพียงแต่ถูกบรรจุอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จึงอาจทำให้เนื้อหาและเวลาในการเรียนมีน้อยกว่าที่ผ่านมา ทำให้เด็กอาจได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รวมถึงตระหนักในและเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองไม่ดีมากนัก ดังนั้นอาจจะต้องแยกออกจากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ ด้วย โดยขณะนี้ได้แต่งตั้งให้นายวินัย รอดจ่าย ประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา สพฐ. เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อวางแผนพัฒนาการสอนและศึกษาแนวทางความเป็นไปได้การแยกสองวิชานี้ออกมาจากหมวดสังคมศึกษาให้ชัดเจนขึ้น แต่ในส่วนการสอนวิชาศีลธรรม ก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่รวมอยู่ในวิชาพระพุทธศาสนาซึ่งเด็กทุกคนต้องเรียน

ที่ประชุมองค์กรหลัก จึงได้หารือถึงแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการเพิ่มเนื้อหาในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์ การส่งเสริมความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ วิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาศีลธรรม โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นเจ้าภาพหลัก เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน และประชุมร่วมกันในวันที่ 13 มิถุนายน 2557  เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตตำราเรียนของโรงเรียนเอกชน หรือสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ซึ่งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบ ทั้งนี้ สพฐ.อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเวลาเรียนวิชาประวัติศาสตร์ วรรณคดี และศาสนาให้มากขึ้นด้วย ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายบริหารราชการของ คสช.ที่จะทำอย่างไรให้คนไทยมีความรักสามัคคี รู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง รวมถึงเคารพสิทธิหน้าที่ของผู้อื่นด้วย

  • การขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายการบริหารราชการของ คสช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศเจตนารมณ์และนโยบายในการบริหารราชการ (ซึ่งในส่วนของการศึกษานั้น ได้เกี่ยวข้องในข้อ 2.7 ด้านการศึกษา ข้อ 2.9 การพัฒนาอาชีพและรายได้ ข้อ 2.10 การวิจัยและพัฒนา และข้อ 2.11 การเตรียมการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558)

ปลัด ศธ.กล่าวว่า เจตนารมณ์/นโยบายข้างต้น เพื่อต้องการให้การจัดการศึกษามีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาทุกภาคส่วน การดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่เน้นผู้เรียนและเข้าถึงประชาชนเป็นหลัก ตลอดจนส่งเสริมให้เยาวชนมีความรักชาติ เห็นความสำคัญของเอกลักษณ์ไทย และประวัติความเป็นมาของประเทศชาติ เป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อเป็นพลังของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา และการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักด้วย

 

นโยบายการบริหารราชการของ คสช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

ข้อ 2.7 ด้านการศึกษา

การศึกษาเป็นพื้นฐานในการนำพาประเทศไทยก้าวหน้าอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมและยกระดับการศึกษาในทุกช่วงวัย ให้ทุกส่วนบูรณาการการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ไม่แยกงานด้านการศึกษาจนทำให้ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ

การพัฒนาครู/บุคลากรทางการศึกษา เทคโนโลยีในการศึกษาสู่ความทันสมัย โดยมีเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา เป็นศูนย์กลาง การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในระบบการศึกษา ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า การกระทำนั้นๆ เด็กหรือผู้เข้ารับการศึกษาในทุกระดับ จะได้รับประโยชน์อะไร

– สร้างสรรค์วิธีการ ทำให้เยาวชนไทยมีจิตสำนึกความรักชาติ ผลประโยชน์ของชาติ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เรียนรู้ภูมิใจในประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของบรรพบุรุษไทยและประเทศไทยในอดีต มีความสำนึกในการตอบแทนคุณของแผ่นดิน ไม่ใช่ก้าวไปข้างหน้าแล้วทิ้งสิ่งดีๆ ที่ผ่านมาไปอย่างสิ้นเชิง

– ให้ฝ่ายความมั่นคงมีโอกาสให้ความร่วมมือในทุกสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างความมีระเบียบวินัย เข้มแข็ง แข็งแรง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอื่นๆ เพื่อเป็นพลังอำนาจของชาติในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ข้อ 2.9 การพัฒนาอาชีพและรายได้

– ให้มีการยกระดับ/พัฒนาในทุกกลุ่ม มีเงินทุนสนับสนุนทั้งจากรัฐบาล ภาคเอกชน ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เพื่อให้มีการกระจายรายได้ในทุกระดับ และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

– ให้สถาบันการศึกษาของรัฐ ผลิตช่างฝีมือ แรงงาน ที่มีคุณภาพ รวมทั้งการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน หางานได้ทันที ลดอัตราการว่างงาน โดยมีสัดส่วนที่เพียงพอกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา/การผลิตนักวิชาการในสาขาอื่นๆ

ข้อ 2.10 การวิจัยและพัฒนา

– จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ และเน้นการปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่ต้องซื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อให้เกิดงานในประเทศ มีสินค้าส่งออก โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่า รายได้ต่อเกษตรกร เช่น ปาล์ม ยาง พืชพลังงาน ฯลฯ นอกเหนือจากการปลูกข้าว หรือผลิตผลพืชหลักอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าลดลง มีการแข่งขันสูง

– ส่งเสริมให้มีการร่วมลงทุนจากต่างประเทศทั้งในการวิจัยและพัฒนา การผลิตภายในประเทศเป็นหลัก ในลักษณะการร่วมลงทุนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวิจัยพัฒนาสู่กระบวนการผลิตและจำหน่าย เป็นสินค้าส่งออกของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในสินค้าทุกประเภทที่มีความจำเป็น ทั้งในด้านการดำรงชีวิต รวมทั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยและเทคโนโลยีระดับสูง

ข้อ 2.11 การเตรียมการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558

ให้มีการบูรณาการการเตรียมการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ทั้ง 3 เสาหลัก อันได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการประสานงานการดำเนินการให้สอดคล้องกัน มุ่งเน้นผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และความร่วมมือตามกรอบข้อตกลงต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้แล้ว

-ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกและเครื่องมือที่ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามข้ามชาติ เช่น การก่อการร้าย ปัญหายาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น

– การเจรจาในข้อตกลงทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ หากเงื่อนไขของข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหรือสภาพเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ จะต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะต้องมีการหารือและเห็นพ้องต้องกัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม

– สนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมอัตลักษณ์ของรัฐสมาชิก ให้ความสำคัญกับการรักษาพื้นที่ป่า โดยเฉพาะตามแนวชายแดนของประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย

 

ปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการขับเคลื่อนการทำงานของ ศธ. เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารราชการด้วยว่า ขณะนี้ ศธ. ได้รับเรื่องคืนมาจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จำนวน 21 เรื่อง เช่น การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ค.ศ.  การแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี ฯลฯ  ซึ่งที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานนำเรื่องต่างๆ กลับไปทบทวน และเร่งเสนอกลับมาตามขั้นตอนโดยเร็วต่อไป

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
10/6/2557