ประชุม ปอมท.

จังหวัดเชียงใหม่ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ ปอมท.ประจำปี 2556 เรื่อง “โอกาสมหาวิทยาลัยไทยใน ASEANเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จัดโดยที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญศรี จงเสรีจิตต์ ประธาน ปมอท.




รมว.ศธ.กล่าวว่า การประชุมเสวนาในครั้งนี้เป็นการประชุมที่มีความสำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะมีการเคลื่อนย้ายของบุคลากร ทุน ข้อมูลข่าวสาร ที่สำคัญในด้านการศึกษาจะมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรในด้านต่างๆ ประเภทต่างๆ การจะกำหนดมาตรฐานการศึกษาระดับต่างๆ โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาให้มีความสอดคล้องกับประเทศอาเซียนด้วยกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายของบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพออกไปจากประเทศไทย และส่งเสริมให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาของประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนมากขึ้น หรือมีนักศึกษาจากประเทศต่างๆ มาเรียนในมหาวิทยาลัยไทยมากขึ้น


การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ยังมีความสำคัญคือ การสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการมีความสัมพันธ์ที่ดี ความร่วมมือที่ดีและเข้มแข็งในประเทศอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้การสร้างผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของอาเซียนและประเทศต่างๆ ในอาเซียน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และภาษา โดยเฉพาะมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่แตกฉาน รวมทั้งการที่จะให้ประเทศเป็นศูนย์กลางแหล่งความรู้ในเรื่องอาเซียน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ ย่อมจะนำประโยชน์มาสู่การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ช่วยให้ประเทศไทยได้พัฒนาไปสู่กระบวนการร่วมมือกับประเทศอาเซียนด้วยกัน


สำหรับกิจกรรมเชิดชูเกียรติอาจารย์ดีเด่น ที่ได้มีการมอบรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ และรางวัลอาจารย์ดีเด่น ปอมท. ประจำปี 2556 ในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้อาจารย์มีการพัฒนาอาจารย์ที่ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นก็มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพ หน้าที่การงานของตน และจะได้อุทิศตนให้กับการพัฒนาการศึกษา การสร้างทรัพยากรของประเทศได้ดียิ่งขึ้นต่อไป จึงขอแสดงความชื่นชมและยินดีต่อผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติทุกท่าน


โอกาสนี้ รมว.ศธ.ฝากให้ประเด็นให้ที่ประชุมช่วยกันคิด ดังนี้


ระบบทดสอบวัดผลกลาง ศธ.จะเร่งนำระบบทดสอบวัดผลกลางมาใช้กับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในบางชั้นปีมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนระหว่างการสอบวัดผลกลางกับการสอบปลายภาคมากขึ้น จนกระทั่งถึง 50:50 ในอนาคต ในส่วนของอุดมศึกษา การทดสอบวัดผลก็จะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรด้วย เช่น ข้อสอบ ONet เพราะหากออกข้อสอบนอกหลักสูตรเด็กก็ต้องไปกวดวิชา ซึ่ง สทศ.ยืนยันว่าออกข้อสอบตามตัวชี้วัดมาตรฐานการศึกษา ส่วนครูและนักเรียนบอกว่าไม่มีสอนในโรงเรียน จึงเป็นประเด็นที่ต้องมาหารือร่วมเพื่อแก้ไขต่อไป


– การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ระบบสอบตรง ซึ่งคณะ/มหาวิทยาลัยจัดสอบเองจำนวนมาก ตามเวลาที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด ทำให้นักเรียน ผู้ปกครอง ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเสียเวลาในการเดินทางไปสอบในแต่ละมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ นักเรียนที่บ้านมีฐานะมากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการสอบหลายแสนบาท ไม่รวมการกวดวิชา แต่เรื่องใหญ่คือ นักเรียนที่ไม่มีเงินที่จะเสียค่าใช้จ่ายในการสอบ ทำให้ไม่ได้สอบ ซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ ดังนั้น ระบบการคัดเลือกเช่นนี้ไม่ยุติธรรมต่อเด็กส่วนใหญ่ของประเทศอย่างร้ายแรง เด็กจนๆ ไม่มีโอกาสในการสอบแข่งขัน สิ่งสำคัญอีกประการคือ การสอบตรงตามเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด ทำให้การศึกษาของประเทศไทยที่จะต้องเรียน 12 ปี กลายเป็นเรียนเพียง 11 ปี เพราะปีที่ 12 ปีจะเป็นเวลาของการสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัย รวมทั้งการออกข้อสอบตรง ทำให้เด็กและผู้ปกครองไม่สนใจการเรียนในโรงเรียน อาจารย์หลายท่านก็มีความเห็นว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานจำเป็นต้องมีการปรับปรุง ศธ.ก็ต้องการปรับปรุงเพื่อให้เด็กสนใจการเรียนในโรงเรียน เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษามีผลต่อการจัดการศึกษาทุกระดับ นอกจากนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วและประสบความสำเร็จด้านการศึกษา เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฟินแลนด์ โปแลนด์ ไม่ดำเนินการแบบนี้ แต่จะมีระบบการวัดผลกลาง และนำผลนี้มาใช้ประโยชน์ในการเรียน แต่จะไม่ปล่อยให้แต่ละมหาวิทยาลัยสอบทีละคณะเช่นนี้


ดังนั้น ในอนาคตจึงต้องการให้มาร่วมออกข้อสอบกลาง เพื่อให้ได้เด็กที่มีคุณภาพ ระบบการสอบในปัจจุบันอาจจะไม่ทำให้ได้เด็กที่มีคุณภาพ เพราะเด็กที่ผ่านการกวดวิชาจะถูกติวเข้มให้รู้เทคนิคการทำข้อสอบ แปลงเรื่องให้เป็นสูตรได้เร็ว จำได้ง่าย ซึ่งอาจจะทำให้ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ที่ควรจะมี จึงขอฝากให้ช่วยคิดในประเด็นนี้ด้วย




ภาพ นวรัตน์ รามสูต


ย้ำว่าหากระบบการศึกษาของไทยยังเป็นเช่นนี้ เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานเพื่อคัดเลือกคนที่มีคุณภาพ และเปิดโอกาสให้เกิดการถ่ายโอนนักศึกษา จะทำได้อย่างไรในเมื่อแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดสอบในเวลาแตกต่างกันจำนวนมาก อาจจะส่งผลให้เกิดความยุ่งยากมากกับการที่นักเรียนประเทศอื่นจะเข้ามาเรียนต่อในประเทศไทย


นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
1
4/11/2556