ปฏิรูปภาษาอังกฤษอาชีวะ

โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมนโยบายและแนวทางปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ที่ห้องประชุมเมจิก 2

รมว.ศธ. กล่าวว่า จากการที่ ศธ.ได้ประกาศนโยบายการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2557 โดยได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับอาชีวศึกษาไว้ 6 ประเด็นนั้น ขณะนี้ สอศ.ได้จัดทำแนวปฏิบัติตามนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ปีการศึกษา 2557 สำหรับสถานศึกษาสังกัด สอศ. ดังนี้

 

การใช้กรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษที่เป็นสากล  โดย สอศ.ได้ศึกษาเอกสารและนำกรอบมาตรฐานอ้างอิงทางภาษา The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) และ Vocational English in ESL/ESL Competencies มาใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับอาชีวศึกษา

ปรับจุดเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยได้บริหารจัดการหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นทั้งในด้านโครงสร้างเวลาเรียน กระบวนการจัดการเรียนรู้ และการวัดประเมินผล เช่น จัดให้มีการเรียนภาษาอังกฤษทุกวันๆ ละ 2 ชั่วโมง การกำหนดระดับการประเมินภาษาอังกฤษ ได้แก่ ระดับ ปวช.1 ต้องสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เกิดทักษะด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน ในเรื่องที่คุ้นเคยและที่เผชิญในการทำงาน ระดับ ปวช.2 สามารถจัดการสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง พูดภาษาอังกฤษได้ และเขียนจดหมายตอบโต้ได้  และระดับ ปวช.3 มีทักษะการบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ แสดงความคิดเห็นและสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจเป็นภาษาอังกฤษได้

ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานหลัก ได้แก่ จัดแผนการเรียนให้มีรายวิชาสนทนาภาษาอังกฤษ จัดหาครูชาวต่างชาติ เพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษตามตารางเรียนที่ว่าง จัดแผนการเรียนให้นักเรียนนักศึกษาที่มีความสนใจ โดยจัดชั่วโมงเรียนทุกวันๆ ละ 2 ชั่วโมงหลังชั่วโมงเรียนสุดท้าย ตั้งชมรมวิชาชีพภาษาอังกฤษ จ้างครูไทยและต่างชาติเพิ่ม

ส่งเสริมการยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ได้แก่

– จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรสนทนาภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษา ได้แก่ นักเรียนและครูต่างชาติร่วมแต่งบทสนทนาภาษาอังกฤษที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียน จัดให้มีเว็บไซต์คลังบทสนทนาภาษาอังกฤษในสภาความเป็นจริง การประกอบอาชีพ โดยจัดในรูปแบบการประกวดและให้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจ นอกจากนี้ จะจัดให้มีการสนทนาภาษาอังกฤษวันละคำหน้าเสาธง จัดกิจกรรมภาษาอังกฤษทุกสัปดาห์ การนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น

– การเข้าค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้มช่วงปิดภาคเรียน ได้แก่ ค่ายภายในภูมิภาค 10 วัน การฝึกแคมป์ภายในประเทศ 3 สัปดาห์ ค่ายระดับชาติ 2 สัปดาห์ และฝึกแคมป์ต่างประเทศอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยมีการจัดทำปฏิทินการทำงานกลางเพื่อให้ทุกสถานศึกษานำไปกำหนดแผนงาน และจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติครูและนักเรียนนักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์ CEFR

– จัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ส่งเสริมต่อการฝึกทักษะทางภาษา เช่น English Corner, English Zone, กำหนดให้มี English Literacy Day, จัดทำป้ายนิเทศ 2 ภาษ การประกวด/แบ่งปันทักษะทางภาษา

ยกระดับความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครู  เช่น พัฒนาครูผู้สอนวิชาชีพให้สอนเป็นภาษาอังกฤษได้ จัดหาครูต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษา รวมทั้งจัดจ้างครูวิชาชีพที่สามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ทั้งไทยและต่างชาติ

ส่งเสริมการใช้สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ซึ่งสถานศึกษาต่างๆ มีการประชุมหารือเรื่องสื่อการเรียนรู้และการเรียนการสอนตามคุณภาพและมาตรฐานกรอบ CEFR  ตลอดจนวิเคราะห์ ประเมิน คัดเลือกแบบเรียน สื่อ หรือแหล่งการเรียนรู้ที่เหมาะสม  จัดห้องเรียนพิเศษพร้อมทั้งอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง  และส่งเสริมให้มีการใช้เครือข่ายทางสังคม (Social Networks) เป็นเครื่องมือในการสอนภาษาอังกฤษ เช่น การสนับสนุนเครือข่ายไร้สาย Wi-Fi ภายในสถานศึกษา ตั้งกลุ่ม Line ที่เน้นสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ จึงหวังว่าจะมีแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อให้สถานศึกษาอาชีวะทั่วประเทศใช้เป็นกรอบและเป็นแนวปฏิบัติตามนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ปีการศึกษา 2557 ของ สอศ.  และสามารถจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาอาชีวะทั่วประเทศได้อย่างมีคุณภาพ

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
16/5/2557