ปฏิรูปภาษาจีนอาชีวะ

โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมนโยบายและแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอาชีวศึกษา จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหาร สอศ. พระพรหมมังคลาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียนและผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประมาณ 50 คน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ที่ห้องประชุมเมจิก 2

นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า จากการที่ ศธ.มีนโยบายปฏิรูปการศึกษาให้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งระบบ โดยประกาศให้ “การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ” และกำหนดให้ปี 2556 เป็น “ปีแห่งการรวมพลังยกรดับคุณภาพการศึกษา” เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้เข้มแข็งและเตรียมความพร้อมให้การศึกษาสอดคล้องกับสังคมโลก ดังนั้น สอศ.จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน ซึ่งมีการปรับให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เน้นให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร การค้นคว้าหาความรู้ และนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รมว.ศธ. กล่าวยินดีที่ สอศ.ให้ความสนใจในการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ภาษาจีนเป็นภาษาที่มีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้นทุกปี จึงต้องมีการผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิต เพื่อให้ผู้จบการศึกษาสามารถเข้าทำงานในบริษัทที่ใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร

การเรียนภาษาจีนในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีความตื่นตัว และความสนใจของผู้เกี่ยวข้องมากขึ้นตามที่ ศธ.ประกาศนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาจีน และส่งเสริมให้สถานศึกษาดำเนินการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนได้ตามความสนใจ มีหน่วยงานจากจีนให้การสนับสนุนและร่วมมือในการดำเนินการในหลายด้าน เช่น สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน (ฮั่นปั้น) และ ศธ.ของจีน ที่พร้อมจะช่วยเหลือเรื่องการจัดทำหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน วิธีการสอนทีดีและเหมาะสม รวมถึงจัดส่งครูมาที่สถานศึกษาหลายแห่งในประเทศไทย เป็นต้น จากการที่มีนักเรียนไทยเรียนภาษาจีนมากถึง 8 แสนคน ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ ครูผู้สอนที่มีจำนวนน้อยไม่สามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขไม่ใช่การเพิ่มจำนวนครูให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน แต่เป็นการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และสอนแบบเข้มข้น จึงจะได้ผล

การสอนภาษาต่างประเทศที่ผ่านมานับเป็นการสูญเปล่าทางทรัพยากร เนื่องจากไม่มีการสอนแบบเข้มข้น ครูสอนการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการเรียนแบบกลับหัวกลับหาง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้เรียนควรจะเรียนจากการฟังและการพูดก่อน จึงจะเรียนการอ่านและการเขียน อีกทั้งการเรียนภาษาต่างประเทศในห้องเรียนไม่มีวิชาสนทนา ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถใช้ภาษาในการสื่อสาร ดังนั้น การเรียนภาษาจีนจะต้องไม่ซ้ำรอยกับการเรียนภาษาอังกฤษในอดีต โดยเฉพาะการเรียนภาษาจีนสำหรับนักศึกษาอาชีวะ จะต้องเรียนเพื่อให้สื่อสารได้ และเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในอนาคต

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า นับเป็นเรื่องดีที่ สอศ.จัดการประชุมในวันนี้ หากที่ประชุมมีความเข้าใจร่วมกัน การดำเนินการและขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้มีการบังคับเรียนภาษาจีน แต่ให้เลือกเฉพาะผู้ที่สมัครใจและสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษาจีน แม้ว่าจำนวนผู้เรียนจะน้อยลง แต่ความสำคัญอยู่ที่การเพิ่มจำนวนผู้ที่เรียนแล้วได้ผล สามารถสื่อสารได้ และจะต้องมีระบบวิชาเลือกเพื่อรองรับผู้ที่ไม่สนใจเรียนภาษาจีน แต่ต้องการเรียนวิชาอื่นแทน

 

นโยบายการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอาชีวศึกษา

มาตรการที่ 1 การจัดการเรียนการสอนภาษาจีน  ให้เริ่มเปิดการเรียนการสอนภาษาจีนได้ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เป็นต้นไป กำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน และความต้องการของสถานประกอบการ โดยระดับ ปวช. เน้นการสื่อสารเบื้องต้น และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เน้นการสื่อสารเพื่ออาชีพ

มาตรการที่ 2 การพัฒนาหลักสูตรภาษาจีน   ให้พัฒนาหลักสูตรให้มีความต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ จัดทำคู่มือการใช้หลักสูตร รวมทั้งหลักสูตรเฉพาะสำหรับส่งเสริมกลุ่มผู้เรียนที่มีศักยภาพด้านภาษาจีนให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะภาษาจีนมากยิ่งขึ้น

มาตรการที่ 3 การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาจีน   ให้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาจีนให้ได้มาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับการอาชีวศึกษาทั้งระบบ พร้อมจัดทำคู่มือครูเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน โดยร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน

มาตรการที่ 4 การวัดและการประเมินผล  ให้มีการประเมินความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาจีนของผู้เรียนด้วยเครื่องมือที่ได้มาตรฐานระดับอาชีวศึกษา และมาตรฐานระดับสากล

มาตรการที่ 5 การพัฒนาครูภาษาจีน   กำหนดมาตรฐาน ความรู้ ทักษะ และเจตคติ การเรียนการสอนภาษาจีนในระดับอาชีวศึกษาของผู้สอน วางแผนเกี่ยวกับอัตรากำลังคนและการพัฒนาผู้สอน สนับสนุนให้ผู้สอนได้มีโอกาสเพิ่มประสบการณ์การเรียนการสอนทั้งในและต่างประเทศ

มาตรการที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน  จัดให้มีระบบการขับเคลื่อนและควบคุมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน แสวงหาความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษาจีนทั้งในและต่างประเทศ

 

กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

15/5/2557