เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2562 เวลา 18.30 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศึกษาธิการ) พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ นายพะโยม ชิณวงศ์ หัวหน้าคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ ตลอดจนนายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน. ผู้บริหาร และครู กศน.เขตปทุมวัน ลงพื้นที่พบปะหารือเครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อน มูลนิธิสายเด็ก 1387 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการจัดการศึกษาและให้ความช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนในพื้นที่โดยรอบหัวลำโพง
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อต้องการรับฟังและลงมาติดตามสถานการณ์เด็กเร่ร่อน ที่มีจำนวนกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งเด็กเร่ร่อนจัดเป็นหนึ่งในเด็กด้อยโอกาสของไทย 10 ประเภท ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. มีหน้าที่ต้องส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ” ตลอดจนพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จึงต้องการมารับฟังความต้องการและปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะสนับสนุนให้เด็กกลุ่มนี้ได้เข้าถึงการศึกษาตามความถนัดและความต้องการของแต่ละคน พร้อมช่วยเติมเต็มให้สามารถดำรงชีวิต มีงานทำ และพึ่งพาตนเองได้
โดยในมิติของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการมาถามเด็กเหล่านี้ว่า ลูก ๆ ของเราได้เรียนหนังสือหรือไม่ เรียนแล้วตรงกับความต้องการและความถนัดหรือไม่ เพราะคงจะมีแต่การศึกษาเท่านั้น ที่จะช่วยสร้างวิธีคิดและทักษะในการดำรงชีวิต ต่อยอดไปสู่การมีงานทำ หรือประกอบอาชีพได้ตามความต้องการ ซึ่งขณะนี้ในกรุงเทพฯ มีจำนวนเด็กเร่ร่อนถึงกว่า 30,000 คน และในพื้นที่หัวลำโพงนี้ มีเด็กเร่ร่อนที่สมัครเข้าเรียนกับ กศน.เขตปทุมวันกว่า 30 คน โดยมีครู กศน. มาสอนแบบพบกลุ่ม ในช่วงวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 10.00-12.00 น. ที่ชั้น 2 สำนักงานมูลนิธิสายเด็ก เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า จากการรายงานและพูดคุยกับเด็ก ๆ ที่หัวลำโพงนี้ ต้องยอมรับว่าปัญหาเด็กเร่ร่อนเป็นปัญหาสังคมที่มีมิติกว้างมาก และเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละคนและแต่ละบริบทของที่มา โดย กศน. จะต้องปฏิรูปการจัดการศึกษาให้ตรงจุด นอกจากจะปฏิรูปการศึกษาตามจุดเน้นและนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังต้องปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาตามอัธยาศัยให้มีความยืดหยุ่น และรองรับความต้องการให้ได้มากที่สุดด้วย อาทิ การอบรมอาชีพที่ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น การเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนต่อยอดสู่การมีอาชีพ การได้รับวุฒิการศึกษาเพื่อเรียนต่อหรือมีงานทำ ได้ไม่ยากนัก ไปจนถึงการมีทักษะชีวิตที่จะช่วยให้สามารถเผชิญปัญหาได้ ดำรงชีวิตด้วยสติปัญญา มีเหตุผล คิดไตร่ตรองก่อนทำและคิดถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยทั้งหมดนี้ได้ฝากให้ กศน. ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเน้นเป้าหมายให้เด็กกลุ่มนี้ “มีที่เรียน มีงานทำ มีเงินใช้ มีความสุข” มากไปกว่านั้น คือขวัญกำลังใจของครู กศน. ที่อุทิศตนทำงานอย่างหนักให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่นี้ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง ให้ครูเหล่านี้ได้มีความมั่นคงในอาชีพ และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาแก่กลุ่มเด็กด้อยโอกาสต่อไป
“ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้เป็นการเฉพาะ โดยจะเร่งศึกษาปัญหาและข้อมูลรายละเอียดอย่างรอบด้าน เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงการศึกษาตามมาตรฐาน และการดำเนินงานในพื้นที่หัวลำโพง จะเป็นต้นแบบนำไปใช้แก้ไขในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญที่มีเด็กเหล่านี้อีกกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ อาทิ เชียงใหม่ พัทยา ฯลฯ และขอยืนยันที่จะดำเนินการให้เร็วที่สุด ร่วมกับเครือข่าย มูลนิธิ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อม ๆ กับการเตรียมสถานที่รองรับการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย รวมทั้งเด็กกลุ่มนี้ ก็คือ “Good Learning Center” ศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัยในชุมชนทั่วประเทศ ตามโครงการ กศน. WOW ก้าวสู่ยุคดิจิทัล โดยจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่โรงเรียนที่ถูกควบรวม ให้เป็นแหล่งรวมความรู้ วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนปราชญ์ชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ที่จะช่วยพัฒนาและเติมเต็มการเรียนรู้ทั้งในสมองซีกซ้ายและขวา ตามความต้องการที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน