นศ.พระนครเหนือ เจ๋ง! คว้ารองอันดับ 1 หุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก

          นักศึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นตัวแทนประเทศไทยสุดเจ๋ง ไปสร้างชื่อเสียงระดับโลก คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัล (Best in Class Mobility) รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมระดับโลก จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World Robocup Rescue 2017” ที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 25-30 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

          โดยมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันจาก 23 ทีม 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน อิหร่าน ฮังการี ตุรกี เกาหลีใต้ เม็กซิโก และไทย  ผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ได้แก่  ที่ 1 YRA ประเทศอิหร่าน ที่ 2 iRap Robot ประเทศไทย ที่ 3 MRL ประเทศอิหร่าน

          สมาชิกในทีม iRap Robot ประเทศไทย ประกอบด้วย  นายอรัญ แบล็ทเลอร์ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและการผลิต (TGGS) นายพรอนันต์ รักตระกูลธรรมภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและระบบซอฟต์แวร์ (TGGS) นายธนพล ศรเดช ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต (MPE) นายนภดล พัดชื่น ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือวัดและอิเล็กทรอนิกส์ (MAUE) นายญาธิป เอื้ออามร ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ (MIE) นายเนตินันท์ กุตนันท์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือวัดและอิเล็กทรอนิกส์ (InSE) นายภุมมิฑล ไชยเชิดเกียรติ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (ECE) นายธนวัฒน์ พงศธรพิศุทธิ์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม (WdET) นายพงศ์ธนา ละอองเอี่ยม ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล (MtET) นายปฏิภาณ แถวหมอ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล (MtET) นายบรรวิทย์  บุตรดี ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต (PE) นายธีรวัฒน์ เพ็ชรปูน เตรียมวิศวกรรมไฟฟ้า (E)

          อาจารย์ผู้ควบคุมทีม ผศ.สมชาย เวชกรรม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ดร.อมรพันธุ์ พันธุ์โอภาส ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและหุ่นยนต์ผศ.ชัชชัย เสริมพงษ์พันธ์ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์สายันต์ พรายมี อาจารย์ที่ปรึกษา ดร.วิษณุ จิตวิริยะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการผลิต

          ผศ.ชัชชัย เสริมพงษ์พันธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาทีมหุ่นยนต์กล่าวว่า หุ่นยนต์ของประเทศไทยได้รางวัลรองแชมป์โลก Rescure  RoboCup  2017 แพ้อิหร่านไปเพียง 2-3 คะแนน เพราะทำคะแนนในรอบชิงชนะเลิศในสถานีแรกไม่ดี เนื่องจากระบบการควบคุมหุ่นยนต์ด้วย wifi ถูกแฮก wifi การควบคุมหุ่นยนต์ จึงเปลี่ยนการควบคุมโดยใช้สาย land ในสถานี 2 และ 3 เพื่อป้องกันการแทรกแซงการควบคุม และสามารถทำคะแนนทุกสถานีที่ผ่านทำคะแนนได้ดีมาก แต่เกิดปัญหาแบตเตอรี่ขัดข้อง ในสถานที่ 3 (สถานีสุดท้าย) ช่วง 12 นาที สุดท้าย ก่อนหมดเวลา ทำให้ทีมหุ่นยนต์ของประเทศไทยต้องหยุดการแข่งขันอย่างกะทันหัน จึงไม่สามารถทำคะแนนเพิ่มเติมได้อีก ต้องพลาดแชมป์โลกไปอย่างน่าเสียดาย

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอแสดงความยินดีและชื่นชมนักศึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัยที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยและมหาวิทยาลัย ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนซึ่งเป็นรางวัลที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน และจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 2 สิงหาคม 2560 เที่ยวบินที่ TG 645  ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 15.00 น.

 

ที่มา : http://www.banmuang.co.th/news/education/87082