ทุ่มงบ 150 ล้านบาทผุดศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชนแบบถาวรใน 500 อบต.

             นายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานเปิดโครงการขยายบทบาทศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix It Center ระยะที่ 3 พร้อมทั้งส่งสัญญาณเริ่มดำเนินโครงการฯอย่างเป็นทางการ จากสโมสรตำรวจ สถานที่เปิดงานไปสู่พื้นที่เป้าหมาย 500 อบต. ทั่วประเทศ ผ่านระบบเครือข่ายสถานีวิทยุการศึกษาเพื่ออาชีพ  หรือ R-Radio Network ของวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
             รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวในระหว่างพิธีเปิดโครงการว่ารัฐบาลมีความคาดหวังต่อบทบาทของศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชนซึ่งจะทำหน้าที่หลักในการให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องมืออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ  ตลอดจนเครื่องใช้ในครัวเรือนโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ เนื่องจากเป็นบริการฟรีโดยใช้พลังของนักศึกษาอาชีวศึกษาที่เรียนทางด้านช่างสาขาต่าง ๆ ออกไปให้บริการถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน  โดยรัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนและบรรจุไว้ในแผนบริหารราชการ 4 ปี  โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 ไปสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2554  มีเป้าหมายในการจัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชนลักษณะถาวร ซึ่งจะมีเครื่องมือซ่อมบำรุงมาตรฐานเพื่อไว้ให้บริการแก่ชุมชนอย่างเหมาะสม  โดยดำเนินการนำร่องในปี พ.ศ.2551 จำนวน 500 ศูนย์ ใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท  ส่วนปี พ.ศ.2552- พ.ศ.2554 จำนวน 8,000  ศูนย์ ในทุกตำบลทั่วประเทศ  นอกจากการให้บริการซ่อมเครื่องมือต่าง ๆ แล้ว  ศูนย์ฯ ซึ่งระยะแรกบริหารงานโดยครูอาชีวศึกษาจะทำหน้าที่ฝึกทักษะฝีมือช่างให้กับประชาชนที่มีความสนใจเพื่อพัฒนาเป็นช่างประจำชุมชนไม่น้อยกว่า 40,000  คนด้วย  พร้อมทั้งจะให้ความช่วยเหลือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สนับสนุนการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและผลักดันให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ภายในชุมชนอย่างยั่งยืน  รวมทั้งการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น
             นายวีระศักดิ์  วงษ์สมบัติ  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่าการดำเนินงานของศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะวิชาชีพและฝึกการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเกิดความมั่นใจและมองเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคตภายหลังเรียนจบได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้จะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน  โดยได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 300 บาท ในการออกให้บริการ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของการเรียนอาชีวศึกษา โดยคาดหมายว่าจะมีนักศึกษาประมาณ 20,000 คน ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
     

//////////////////////////////////////////             

        

   กลุ่มประชาสัมพันธ์
            2  กรกฎาคม 2551
แหล่งที่มา/ผู้ส่ง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา