ติดตามการใช้แท็บเล็ต

จ.นนทบุรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปตรวจเยี่ยม รับฟังปัญหาความต้องการ และติดตามการใช้แท็บเล็ตของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 55 (วัดโบสถ์ดอนพรหม) และโรงเรียนวัดเสนีวงศ์ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นภารกิจการลงพื้นที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่






  • โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 55 (วัดโบสถ์ดอนพรหม) ต.บ้านกร่าง อ.เมืองนนทบุรี


รมว.ศธ.ได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.2/28 ของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนและชุมชนได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างจำนวน 4.9 ล้านบาท โดยมีนางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี รวมทั้งคณะครู ผู้บริหารสถานศึกษา/เขตพื้นที่การศึกษา ผู้ปกครอง และพลังมวลชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับ


รมว.ศธ.ได้กล่าวว่า มีความรู้สึกยินดีที่ได้มาปฏิบัติภารกิจในโอกาสที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ซึ่งได้มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกคนกระจายลงไปในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้มีการติดตาม ประสานการทำงาน รับฟังปัญหาความต้องการ และดำเนินการเรื่องที่มีการขอความช่วยเหลือหรือขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งการประชุม ครม.สัญจรจะเป็นประโยชน์ค่อนข้างมากที่รัฐบาลจะได้ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ได้เข้าใจความต้องการ รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้กับชุมชนและสังคมต่อไป


ในส่วนของการศึกษานั้น จากการที่ได้มอบนโยบายการศึกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ทราบว่าสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะจัดพิมพ์และเผยแพร่เอกสาร 8 นโยบายการศึกษา จึงหวังว่าผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารจะนำเอกสารไปอ่านรายละเอียดและร่วมมือในการจัดการศึกษา ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งตนเป็นผู้ร่วมร่างนโยบายนี้ที่ได้เสนอต่อรัฐสภา


นโยบายที่สำคัญในการจัดการศึกษาของ ศธ.คือ เราควรรวมพลังเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งก็คือการปฏิรูปการศึกษาหรือปฏิรูปการเรียนการสอน แม้ช่วงเวลาที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการดังกล่าวแล้ว แต่จะทราบได้อย่างไรว่าการศึกษามีคุณภาพดีขึ้น ลูกหลานดีขึ้น หรือจบแล้วมีการงานอาชีพดีขึ้น ดังนั้นจึงพยายามจะหาแนวทางให้สามารถวัดได้ว่า ปฏิรูปการศึกษาแล้วเห็นผลชัดเจน ไม่ใช่ทุกคนต่างทำไปอย่างดีที่สุด แต่ผลที่ออกมาไม่สามารถวัดได้


ระยะเวลาที่ผ่านมา 20-30 ปีก่อนที่จะมีการทดสอบ O-Net และ A-Net ไม่มีระบบการทดสอบกลางของประเทศ ประชาชนจึงไม่สามารถทราบได้ว่าลูกหลานตนเองเรียนหนังสือแล้วเป็นอย่างไร กว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อลูกหลานไปสอบเข้าโรงเรียนดังๆ ว่าเข้าได้หรือไม่ จึงไม่ทราบว่าโรงเรียนของเราจัดการศึกษาเป็นอย่างไร ผลการศึกษาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น ผลคะแนนการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ Program for International Student Assessment (PISA) ที่ประเทศไทยเข้าในระบบนี้มาหลายรอบ ล่าสุดได้อันดับที่ 50 จาก 65 ประเทศ ในขณะที่ประเทศฟินแลนด์ได้อันดับ 1 มาถึงสองครั้ง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่ได้สนใจ PISA เลย ล่าสุดสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่งได้ให้ PISA เข้ามาประเมินผล ซึ่งปรากฏว่าได้ลำดับที่ 1 ทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์


ดังนั้น จึงต้องการให้ผลการประเมิน PISA เป็นตัวชี้วัดการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ โดยตั้งเป้าหมายว่าผลคะแนนในปี 2558 ควรจะทำให้อันดับการประเมินของไทยเมื่อเทียบกับนานาชาติดีขึ้น ซึ่ง ศธ.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในส่วนนี้ สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้มหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับโลกได้มากขึ้นด้วย


สิ่งสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว คือ 1) สอนให้ได้ผล เด็กเรียนวิชาต่างๆ ได้ดี ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี 2) เด็กคิดเป็นวิเคราะห์เป็น มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และทักษะที่จำเป็น 3) จัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อสมัยใหม่ ซึ่งในสามประเด็นนี้จึงโยงไปที่หลักสูตรที่ ศธ.กำลังจัดทำหลักสูตรใหม่ที่ทันสมัยและดีมากขึ้น แต่การปฏิรูปการเรียนการสอนก็สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอหลักสูตร ในส่วนของการทดสอบ ก็ต้องคำนึงถึงหลักสูตรในการเรียนการสอนด้วย โดยต้องออกข้อสอบให้ตรงตามหลักสูตรมากขึ้น มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาการกวดวิชา ทำให้ผู้ปกครองเดือดร้อนที่จะเสียเงินส่งบุตรหลานไปเรียนกวดวิชามากขึ้น เนื่องจากข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ออกตรงตามหลักสูตร ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องเชื่อมโยงกัน


ในขณะเดียวกัน การประเมินวิทยฐานะ ก็ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้มากขึ้น หรือการบริหารเขตพื้นที่การศึกษา ก็ต้องมาตกลงว่าบริหารงานแล้ว จะต้องทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งระบบการแต่งตั้งโยกย้าย ระบบเงินอุดหนุนรายหัว ล้วนต้องมีความสัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้โรงเรียนใหญ่ๆ ดึงดูดครูเก่งครูดีเข้าไปหมด


รมว.ศธ.กล่าวสรุปถึงหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาหรือการปฏิรูปการเรียนการสอน จะต้องทำเรื่องการปฏิรูปหลักสูตร ที่จะต้องควบคู่ไปกับระบบการวัดประเมินผล โยงไปที่มาตรฐานสากล โยงไปที่ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โยงไปที่ระบบการบริหารงานบุคคล ซึ่งหวังว่าหากเราสามารถเชื่อมโยงกันได้แล้ว ก็ถือว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ผลการจัดอันดับการศึกษาไทย ผลการทดสอบ PISA ของไทย ให้อยู่ในอันดับที่ดีขึ้น สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญเพิ่มขึ้นเป็น 50 : 50 มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกมากขึ้น และมีการกระจายโอกาสและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น


จึงฝากทุกท่านมาช่วยกันปฏิรูปการศึกษา เพราะลำพังรัฐมนตรีคนเดียวไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีผลต่อการปฏิรูปการศึกษาได้ แต่ต้องอาศัยครู ผู้ปกครอง ภาคเอกชน ผู้คนทั้งสังคมมาช่วยกันปฏิรูปการศึกษา และหวังว่าจะใช้โอกาสอื่นๆ เพื่อรวมพลังทั้งสังคมยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้ Video Conference และสื่อโทรทัศน์วิทยุที่มีอยู่ของ ศธ.เพิ่มเติมต่อไปด้วย


โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูและนักเรียนในห้องเรียนของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 55 รวมทั้งตรวจเยี่ยมการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตของนักเรียนชั้น ป.2





  • โรงเรียนวัดเสนีวงศ์ ต.หนองเพรางาย อ.ไทรน้อย


รมว.ศธ.ได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่การก่อสร้างของโรงเรียนวัดเสนีวงศ์ ซึ่งได้เสนอโครงการก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.2/28 จำนวน 8.95 ล้านบาท รวมทั้งได้เยี่ยมชมกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนงบประมาณการจ้างครูชาวฟิลิปปินส์เข้ามาช่วยสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียน รวมทั้งเยี่ยมชมกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ต ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เยี่ยมชมห้องสมุด และกิจกรรมการเรียนการสอนของครูในชั้นเรียนต่างๆ


รมว.ศธ.กล่าวว่า นอกจากการติดตามการก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนทั้งสองแห่งแล้ว ได้ติดตามการใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอนของโรงเรียนทั้งสองแห่ง พบว่าครูผู้สอนยังไม่ได้รับแท็บเล็ต ทำให้ต้องเดินไปใช้แท็บเล็ตของนักเรียนในการสอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือ บทเรียนหรือเนื้อหาสาระที่มาตรฐาน เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ และเมื่อเด็กนักเรียนในพื้นที่ได้มีคุณภาพการศึกษาที่ดี ก็จะส่งผลให้เด็กเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จบแล้วประกอบอาชีพต่างๆ ได้ดีขึ้น และที่น่ายินดีคือในจังหวัดนนทบุรี มีผลการเรียนที่ดีมาก โดยได้รับความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงฝากให้ช่วยกันดูแลจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น และจัดการเรียนการสอนที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอย่างแท้จริง


บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
18/7/2556