“ตรีนุช” ปักธงงบประมาณปี 66 มุ่งสร้างคุณภาพการศึกษา
เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.ศธ.) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลัก เข้าร่วม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุม โดยมีผู้แทนจากสำนักงบประมาณเข้าร่วมฟังนโยบาย ว่า นโยบายและจุดเน้นปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของ ศธ. สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ เชื่อมโยงกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในหมุดหมายที่ 12 คือ ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต
“จากการกำหนดนโยบายเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง กระทรวงศึกษาธิการ ยังคงยึดมั่นเดิน ตามแนวทางและนโยบายที่กำหนด โดยจุดเน้นในปีงบฯ 2566 นี้ มี 7 เรื่องสำคัญ คือ 1. การจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย 2. การยกระดับคุณภาพการศึกษา 3. การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย 4. การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 5. การส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครู บุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 6. การพัฒนาระบบราชการและบริการภาครัฐยุคดิจิทัล และ 7. การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาและแผนการศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องงบประมาณการจ้างครูผู้สอน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตลอดจนงบฯลงทุน ค่าก่อสร้างบ้านพักครู ของ สพฐ. และ ปรับอัตราเงินอุดหนุค่าใช้จ่ายรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และสามารถตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาได้
นอกจากนี้ ที่ผ่านมางบประมาณของ ศธ.ที่ได้รับกว่า 80 % เป็นงบฯดำเนินการ รายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนครู จะเหลืองบฯพัฒนาการศึกษา พัฒนาเด็กและพัฒนาครูน้อยมาก ดังนั้นปีงบฯ 2566 จะปักหมุดเรื่องการทำโรงเรียนคุณภาพ ห้องเรียนคุณภาพ เพื่อดึงดูดเด็กให้เข้ามาเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ ด้วยความเต็มใจและจะสามารถลดจำนวนโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่มีมากถึง 30,000 กว่าแห่งลงได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีงบฯเหลือเพื่อการพัฒนา ขณะเดียวกัน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (โรคโควิด-19 ) ปัญหาที่เราเจอ คือรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป ทำให้ ศธ.ต้องเร่งพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ โดยจะมีการทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้เด็กสามารถเลือกใช้ได้ และพัฒนาครูที่ตอบโจทย์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ด้วย” รมว.ศธ.กล่าว
สถาพร ถาวรสุข,ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
7/1/2565