ตรวจเยี่ยมอาชีวะ

รมว.ศธ.ตรวจเยี่ยม สอศ.

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการจัดการอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา



ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงานการจัดการอาชีวศึกษาว่า สอศ. ใช้ อาชีวะสร้างชาติเป็นตัวนำ มีผู้เรียนระดับ ปวช. จำนวน 437,000 คน ปวส. 215,000 คน และปริญญาตรี 2,331 คน มีข้าราชการในสังกัด 16,781 คน และลูกจ้างประจำ 2,401 คน โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่นและในสถานประกอบการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สำหรับงบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 20,700 ล้านบาท


การดำเนินงานตาม 10 นโยบายเร่งด่วน สอศ.ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกโครงการ คือ




  • การช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูสถานศึกษาจากเหตุภัยพิบัติต่างๆ



  • การเร่งแก้ปัญหาก่อเหตุทะเลาะวิวาท ซึ่งปัจจุบันโครงการสุภาพชนอาชีวะ และสุภาพบุรุษอาชีวะ และการสร้างจิตอาสา



  • การสร้างค่านิยมอาชีวะ โดยเฉพาะจริยธรรมวิชาชีพ



  • การปรับหลักสูตรให้รองรับมาตรฐานอาเซียน พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน



  • การปรับเงินอุดหนุนรายหัว ทั้งอาชีวะรัฐและเอกชน โดยจะทำข้อมูลเสนอ ครม.พิจารณาภายในเดือนตุลาคม 2557



  • การขยายบทบาทของภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี มาตรฐานระบบทวิภาคี การพัฒนาทวิภาคีกับต่างประเทศ



  • การแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูและบุคลากรอาชีวศึกษา โดยเฉพาะปัญหาลูกจ้างที่น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน แม้ว่า อ.ก.พ.สอศ.ได้เห็นชอบสนับสนุนกรอบอัตรากำลังคนของครูผู้สอนจำนวน 369 อัตรา จำนวน 70 ล้านบาท และบุคลากรสายสนับสนุน 467 อัตรา จำนวน 55 ล้านบาท แล้วก็ตาม แต่ สอศ.จะได้เสนอให้ ครม.พิจารณาขอกรอบอัตรากำลังเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยจะขอสนับสนุนงบประมาณจำนวน 3,000 ล้านบาท



  • การจัดกิจกรรมรับน้อง โดยการรับน้องได้มีมาตรการลงโทษในกรณีรับน้องรุนแรง



  • การทบทวนมาตรการความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา โดยให้มีผลบังคับใช้กับทุกสถาบัน



  • การดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของ ครม. เช่น การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเปิดหลักสูตร English Program/MEP การจัดหลักสูตรอาชีวะมาตรฐานสากลกับต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน โดยมีแนวทางดำเนินการ เช่น Sister School การสร้างนวัตกรรม/ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ การเพิ่มผู้เรียนอาชีวะทุกระดับในปี 2558 โดยระดับ ปวช.เป้าหมายเพิ่ม 10% ปวส.เท่ากับปีที่ผ่านมา ป.ตรีเป้าหมายเพิ่ม 3,700 คน และอบรมอาชีพวัยทำงานเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน การจัดตั้งวิทยาลัยประจำที่วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา จ.น่าน และวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จ.ราชบุรี


รมว.ศธ. กล่าวว่า จากการรับฟังทำให้รู้สึกสบายใจที่ สอศ.ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ในการดำเนินการตามแนวทางนโยบายของ ศธ. อย่างถูกทิศทาง ซึ่งหากเราได้ปฏิบัติตามภารกิจและหน้าที่ของตัวเองได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนที่ผ่านเข้ามาในระบบอาชีวศึกษาจบออกไปด้วยความภาคภูมิใจ


 


ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการดำเนินงานด้านต่างๆ ตามนโยบาย ศธ. อาทิ




  • การเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ เช่น การผลิตสายอาชีพในโรงเรียนมัธยมฯ เน้นการประชาสัมพันธ์ การสร้างค่านิยมผู้เรียน ยกระดับทักษะอาชีพแก่วัยแรงงาน/คนตกงาน/เกษตรกร



  • การสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษา



  • การสนับสนุนงบประมาณค่าอุปกรณ์ที่มีคุณภาพไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อให้ผู้เรียนได้ยืมเรียนและสามารถฝึกทักษะได้ตลอดเวลา ทั้งในโรงเรียน ชุมชน หรือที่บ้าน



  • การใช้จ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ และงบประมาณปี 2558 โดยเฉพาะในไตรมาสแรก ที่จะต้องดำเนินการด้วยความถูกต้องและโปร่งใส โดย สอศ.จะเน้นความโปร่งใสด้วยหลัก Before & After



  • การขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งจำเป็นต้องให้คุรุสภาพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อให้ผู้มีความรู้ความสามารถได้เข้ามาในระบบ และแก้ปัญหาการขาดแคลนครูช่าง



  • อัตราการมีงานทำของผู้ที่สำเร็จการศึกษา



  • การพัฒนาทักษะการสอนของครู ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี



  • ความร่วมมือกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ในการผลิตกำลังคนในกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มอาชีพยานยนต์ โรงแรม อัญมณี แม่พิมพ์โลหะ ฯลฯ



  • การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเสริมหลักสูตร ปวช./ปวส. และการแก้ไขการจัดการศึกษาตามหลักสูตร ปทส.


นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

2/10/2557