ตรวจเยี่ยม สทศ.

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร) และคณะ พบปะและหารือการดำเนินงานของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) กับคณะกรรมการบริหาร สทศ. โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และรองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ที่ห้องประชุม สทศ. 3 ชั้น 35 อาคารพญาไทพลาซ่า โดยมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์ กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วมประชุมในฐานะคณะกรรมการบริหารด้วย



รมว.ศธ. เปิดเผยต่อสื่อมวลชนภายหลังหารือว่า ต้องการที่จะมาเยี่ยมเยียนและรับฟังภารกิจ ผลการดำเนินงาน ตลอดจนแนวทางการพัฒนาระบบทดสอบประเมินผลการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาและประเทศในอนาคต ซึ่งจากการหารือมีประเด็นที่สำคัญสรุปดังนี้


การทดสอบ O-Net


รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวคิดเกี่ยวกับการจัดทดสอบ O-Net ของ สทศ. ว่าที่ผ่านมาจัดสอบทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา ซึ่งผู้บริหาร ศธ.มีแนวคิดว่า สทศ.จัดสอบเฉพาะสาระวิชาหลักด้านความรู้ ด้านทักษะได้หรือไม่ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ในส่วนวิชาสังคมศึกษา หน้าที่ความเป็นพลเมือง สุขศึกษา พลศึกษา ศิลปะ และดนตรี ให้โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการสอบเอง ซึ่งที่ประชุมก็ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ตนจึงได้มอบเป็นการบ้านให้ สทศ.นำไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร และเมื่อได้ข้อยุติแล้วให้แจ้ง ศธ.ทราบด้วย


สำหรับเหตุผลที่ต้องการจะปรับการทดสอบ O-Net ให้เหลือเฉพาะวิชาหลักนั้น เนื่องจากกลุ่มวิชาสังคมศึกษา เช่น สังคม ศิลปะ ดนตรี เป็นวิชาที่ขึ้นอยู่กับบริบทและวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค หากจะให้ส่วนกลางออกข้อสอบเหมือนกันทั้งประเทศ อาจจะเกิดความเหลื่อมล้ำได้ จึงเสนอให้พื้นที่คือ โรงเรียนได้ดำเนินการเอง เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะสามารถวัดผลได้ดีกว่าด้วย เพราะโรงเรียนสามารถนำวิถีชีวิต สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคมาเป็นข้อสอบ รวมทั้งปรับแบบทดสอบได้หลากหลายมากกว่าการสอบแบบเลือกคำตอบเท่านั้น เช่น ข้อสอบแบบอัตนัย หรือวิธีอื่นๆ สำหรับบางสาระย่อยในวิชาสังคมศึกษา เช่น เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ที่ประชุมมีความเห็นว่า เป็นเรื่องของความรู้ที่น่าจะนำมาใช้สอบ O-Net ได้ แต่อาจจะลดสัดส่วนคะแนนลง ซึ่งเป็นรายละเอียดที่จะต้องหารือกันต่อไป


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ศธ.กำลังเตรียมการปฏิรูปภาคปฏิบัติ โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่องกระจายอำนาจด้านงบประมาณ บริหารจัดการ บุคลากร รวมทั้งหลักสูตร ลงไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งในส่วนของหลักสูตร ศธ.จะมีหลักสูตรกลางให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนส่วนหนึ่ง และหลักสูตรเฉพาะพื้นที่ส่วนหนึ่ง ที่แต่ละพื้นที่สามารถออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของตัวเอง โดยจะมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงไปสู่การวัดผลด้วย ดังนั้น หากจะวัดผลโดยส่วนกลางทั้งหมด อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักสูตรในพื้นที่


ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศธ. กล่าวว่า หากมีการปรับการทดสอบ O-Net ให้เหลือ 4 วิชาหลักจริง การนำคะแนนไปใช้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะนำคะแนนในส่วนใดไปใช้ ส่วนตัวมีความเห็นว่าหลายสาระการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ไม่สามารถวัดได้ด้วยข้อสอบเพียงอย่างเดียว โดยในขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ จะต้องรอผลการหารือของคณะกรรมการบริหาร สทศ.ก่อน อย่างไรก็ตามหากสามารถทำได้จริง อาจอยู่ในรูปแบบของพื้นที่นำร่อง และในขณะเดียวกัน สพฐ.ก็จะต้องออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน โดยมี สทศ.ให้การช่วยเหลือในเรื่องของการวัดผลที่ไม่ใช่วัดความรู้เพียงอย่างเดียวด้วย


● การทดสอบ U-Net


รมว.ศธ. กล่าวว่า สทศ.มีแนวคิดที่จะจัดการทดสอบตามมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ U-Net อีกครั้ง ในลักษณะการอำนวยความสะดวกในการจัดสอบวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษในระดับปริญญาตรี ซึ่งผู้สอบสามารถดูผลการสอบได้ทางระบบอินเทอร์เน็ต และสามารถนำผลการทดสอบไปใช้ในการพัฒนาตนเองต่อไปได้ แม้ที่ผ่านมาอาจจะมีเสียงคัดค้านอยู่บ้าง แต่ขณะนี้ สทศ.จะเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อ ซึ่งจะได้รับการตอบรับมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ยังเป็นหน้าที่ของ สทศ.ที่จะต้องสร้างความเชื่อถือในการจัดสอบให้ได้ โดยเฉพาะกับสถานประกอบการต่างๆ ที่จะรับเด็กเข้าทำงาน เพื่อให้ในอนาคตสามารถใช้ผลการทดสอบนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลประกอบการสมัครเข้าทำงานของผู้จบการศึกษา


ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศธ. กล่าวว่า การจัดทดสอบ U-Net ครั้งนี้ เปรียบเสมือนการมีไม้บรรทัดวัดความรู้วิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษของผู้ที่จะจบระดับอุดมศึกษา ซึ่ง สทศ.จะต้องสร้างระบบให้คนไทยเกิดความมั่นใจและยอมรับให้ได้ โดยจะต้องมีการเทียบเคียงกับมาตรฐานของต่างประเทศด้วย


ผอ.สทศ. ได้รายงานผลการดำเนินงานตามพันธกิจของ สทศ. 7 ประการ ได้แก่


1) การจัดระบบ วิธีการทดสอบและพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลตามมาตรฐานการศึกษา
2) การประเมินผลการจัดการศึกษาและการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ตลอดจนให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทดสอบ ทั้งระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา
3) การทดสอบทางการศึกษา บริการสอบวัดความรู้ความสามารถ และการสอบวัดมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ เพื่อนำผลไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเทียบระดับและการเทียบโอนการเรียนที่มาจากการศึกษาในระบบเดียวกัน หรือการศึกษาต่างระบบ
4) การศึกษาวิจัย และเผยแพร่นวัตกรรมเกี่ยวกับการทดสอบทางการศึกษา ตลอดจนเผยแพร่เทคนิคการวัดและประเมินผลการศึกษา
5) การเป็นศูนย์กลางข้อมูลการทดสอบทางการศึกษา ตลอดจนสนับสนุนและให้บริการผลการทดสอบแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
6) พัฒนาและส่งเสริมวิชาการด้านการทดสอบและประเมินผลทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านการทดสอบ การติดตามประเมินผลคุณภาพบัณฑิต การรับรอบมาตรฐานของระบบวิธีการ เครื่องมือวัด ของหน่วยงานการประเมินผลและทดสอบทางการศึกษา
7) การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านการทดสอบการศึกษาทั้งในระดับประเทศและระดับชาติ

สำหรับประเด็นการจัดทดสอบ U-Net นั้น สทศ.จะให้บริการการทดสอบวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่สมัครใจ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้นำผลการทดสอบไปใช้ประโยชน์ แต่ยังไม่ถึงขั้น U-Net ที่จะทำการทดสอบวัดผลแกนกลางของคุณภาพวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือการคิดวิเคราะห์ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นให้ สทศ.เปิดรับสมัครมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษาที่ต้องการจะประเมินสมรรถนะตนเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สทศ. ที่จะต้องให้บริการการทดสอบที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่การจะนำผลไปใช้ในการจบการศึกษาหรือทำงานนั้น เป็นเรื่องของอนาคตและขึ้นอยู่กับสถานประกอบการแต่ละแห่งด้วย


นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

Published 20
/11/2014