พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยในที่ประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษาแล้ว โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการครั้งแรก ในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล
คณะกรรมการ
1. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ
2. นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี
3. พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
4. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
5. นายกฤษณพงศ์ กีรติกร
6. นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ
7. นายแพทย์กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
8. นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
9. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ
โดยมีหน้าที่เสนอแนะนโยบาย แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตามนโยบายรัฐบาลและแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการตัดสินใจเชิงรุก เพื่อให้การขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาเกิดผลเป็นรูปธรรม กำกับ ดูแล ติดตาม บูรณาการงาน ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายและการพัฒนาการศึกษา การเชิญรัฐมนตรีและผู้แทนหน่วยงาน ตลอดจนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามความเหมาะสม
พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ
ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ควรปรับแก้ในหลายจุด ทั้งในเรื่องขององค์ประกอบของคณะกรรมการ และอำนาจหน้าที่ในหลายด้าน โดยเฉพาะการที่ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือพิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา จึงมอบให้คณะอนุกรรมการฯ นำข้อคิดเห็นต่างๆ กลับไปทบทวนใหม่ โดยนำอำนาจหน้าที่มาเป็นตัวตั้งในการพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างพระราชบัญญัตินี้จะผ่านการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว แต่เนื่องจากคณะกรรมการอำนวยการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำงานเรื่องการปฏิรูปการศึกษาแบบคู่ขนานกัน ประกอบกับคณะกรรมการอำนวยการบางท่านก็เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย จึงนำร่างพระราชบัญญัตินี้มาเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ระหว่างกันว่าควรมีส่วนใดที่จะต้องปรับแก้หรือไม่
ส่วนคำถามว่า จะเกิดความซ้ำซ้อนระหว่าง คศม. กับคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทั้งสองคณะหรือไม่นั้น รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อนกัน เพราะขณะนี้ คศม.ยังเป็นเพียงแนวคิดและอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน ดังนั้นจึงให้
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
รายงานความก้าวหน้าของคณะอนุกรรมการ
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ จำนวน 5 คณะ ได้แก่
– คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา มีศาสตราจารย์พิเศษ สมชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน : ซึ่งได้มีการเสนอประเด็น “การสนองทุนผ่านด้านอุปสงค์หรือตัวผู้เรียน” (Demand Side Financing) ที่จะช่วยส่งเสริมให้กลไกตลาดมีการแข่งขันการผลิตบริการการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างเป็นธรรม โดยผู้ผลิตบริการการศึกษาต้องเรียกเก็บตามต้นทุนการผลิต (Cost Recovery) และผู้ซื้อบริการต้องจ่ายค่าบริการตามต้นทุนนั้น ในกรณีผู้เรียนมีความสามารถทางเศรษฐกิจ ก็จ่ายค่าเล่าเรียนตามปกติ แต่ผู้เรียนที่ขาดแคลน รัฐจะช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพและความสามารถของแต่ละบุคคลให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ได้เสนอให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและจัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เนื่องจากที่ผ่านมาเงื่อนไขการชำระคืนของ กยศ. เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้ผู้กู้ไม่มีวินัยทางการเงิน ส่งผลให้กองทุนมีหนี้ค้างชำระสูงถึง 38,000 ล้านบาท รวมทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตเพื่อการพาณิชย์ที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ จึงเสนอให้นำกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกรายได้ในอนาคต (กรอ.) กลับมาใช้ และให้ยกเลิกการให้เงินกู้ยืมกับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อไม่ให้มีหนี้หลังเรียนจบ
– คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบข้อมูลและสารสนเทศทางการศึกษา มีรองศาสตราจารย์ จีรเดช อู่สวัสดิ์ เป็นประธาน ซึ่งได้มีการบูรณาการข้อมูลทางการศึกษาจากหน่วยงานที่จัดเก็บไว้แล้ว และจะประสานสำนักงานสถิติแห่งชาติในกรณีที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ในส่วนของระบบฐานข้อมูลจะออกแบบให้ผู้ใช้เข้าถึงได้ง่าย สามารถสืบค้น วิเคราะห์ และประมวลผลได้ตามต้องการ รวมทั้งจะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลรายบุคคลที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายรวมประชากรที่ไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่อง และจะเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวกับระบบและหน่วยงานต่างๆ เช่น ระบบ Demand Side Financing กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนถึงการแก้ไขกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลและสารสนเทศทางการศึกษากับสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
– คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ มีรองศาสตราจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ซึ่งได้มีการนำเสนอแนวคิดการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ใน 2 ประเด็น คือ
1) ความเป็นอิสระของสถานศึกษา โดยอาศัยหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะให้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองดี มีความรู้ ความสามารถ ลดบทบาทของรัฐจากเป็นผู้จัดการศึกษา ให้เป็นผู้จัดให้มีการศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งกำกับนโยบาย แผน มาตรฐาน และติดตามประเมินผล และส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างมีอิสระ มีประสิทธิภาพ และรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา โดยสถานศึกษาจัดการศึกษาในรูปแบบ “สถานศึกษานิติบุคคล” ที่มีความคล่องตัวในการบริหารและจัดการศึกษา ทั้งในด้านวิชาการและหลักสูตร ด้านงบประมาณ ด้านบริหารงานบุคคล และด้านบริหารทั่วไป มีความสัมพันธ์กับหน่วยงานส่วนกลางและเขตพื้นที่การศึกษา ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา ตลอดจนถึงมีกลไกผลักดันความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น ความรับผิดชอบของสถานศึกษาและบุคลากรต่อผู้เรียน/ผู้ปกครอง การประเมินศักยภาพสถานศึกษา แนวทางการจัดสรรงบประมาณ หลักธรรมาภิบาล ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการศึกษาและวิทยาการสมัยใหม่
2) กลไกจังหวัด ที่จะต้องมีการรวมตัวของภาคีภาคประชาสังคมที่มีความสัมพันธ์เชิงความรับผิดชอบส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับทุกช่วงวัย โดยบูรณาการการทำงานแนวราบกับกลุ่มคนในพื้นที่ บูรณาการงบประมาณ การประเมินผล และการวางแผนระหว่างความเป็นชาติและความเป็นท้องถิ่น สำหรับเงื่อนไขความสำเร็จในระยะยาว ประกอบด้วย ระบบข้อมูลพื้นที่ (Area based information) กลไกการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง ต่อเนื่อง ยืดหยุ่น และรวมตัวโดยสมัครใจ มีการระดมทรัพยากรทางการศึกษา ปรับสถานะทางกฎหมาย มีเครือข่ายสมัชชาพลเมือง มีระบบตรวจสอบและธรรมาภิบาล
– คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการเรียนรู้ มีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธาน ได้นำเสนอปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปการเรียนรู้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการกำหนดนโยบายการศึกษา ด้านหลักสูตร ด้านการบริหารจัดการทั้งในส่วนกลาง ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ด้านการวัดและประเมินผล และอยู่ระหว่างการผ่อนคลายหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 เพื่อให้มีกระจายอำนาจบริหารวิชาการไปยังสถานศึกษา เกิดการเรียนรู้ที่สถานศึกษา และช่วยลดความแข็งของหลักสูตร ทำให้สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและตามบริบทของท้องถิ่น คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 2 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการนำร่องจังหวัดประชาคมปฏิรูปการเรียนรู้ (Empowering Reform Provinces) ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ขอนแก่น น่าน สุราษฎร์ธานี และยะลา เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในจังหวัด มีรวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนแกนนำการปฏิรูปการเรียนรู้ทุกสังกัด รวมวิทยาลัยอาชีวศึกษาและศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป พร้อมทั้งจะวางแนวทางการปรับแก้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในประเด็นการจัดการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเตรียมรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาค
– คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู มีรองศาสตราจารย์ พินิติ รตะนานุกูล เป็นประธาน ได้รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการผลิตครูว่า คณะอนุกรรมการเห็นควรให้มีการผลิตครูในระบบปิดและผลิตในจำนวนที่มีความต้องการ ในส่วนของการพัฒนาครู จะทำงานในลักษณะเครือข่ายรับผิดชอบครูในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งดูแลคุณภาพครูและการศึกษาในพื้นที่นั้นด้วย
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
18/3/2558