ชำแหละกฎหมายใหม่ ‘กยศ.’ สั่งนายจ้างหักเงินชำระหนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา(กยศ.) มีหนี้เสียสูงมาก โดยตลอด 21 ปีที่ผ่านมา มีผู้กู้เงินจาก กยศ.ทั้งสิ้น 4.8 ล้านราย เป็นลูกหนี้ที่ครบกำหนดเวลาชำระหนี้แล้ว 3 ล้านราย แต่ปรากฏว่ามีลูกหนี้กว่า 1.9 ล้านราย หรือ 53% ของผู้กู้ที่ถึงกำหนดชำระหนี้ ไม่ยอมมาชำระหนี้ เป็นมูลหนี้ 6.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กยศ.เองก็ไม่มีข้อมูลว่าลูกหนี้ กยศ.ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ประกอบอาชีพใดและทำงานที่ไหน
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้กยศ.มีช่องทางในการเรียกคืนหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายปรเมษฐ์ สังข์เอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้ กยศ.กล่าวว่าพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ให้นายจ้างหักเงินจากรายได้ของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ กยศ.ได้ โดยลูกหนี้กลุ่มแรกที่จะ ถูกหักเงินเดือนก่อน คือ ลูกหนี้กยศ.ที่ทำงานในหน่วยงานรัฐ 2 แสนคน ส่วนอีก 1.7 ล้านคน ที่ทำงานในภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และท้องถิ่น กฎหมายให้อำนาจ กยศ.เข้าไปตรวจว่ามีลูกหนี้ กยศ.หรือไม่ และเท่าไร ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการหักเงินเดือนต่อไป
สำหรับขั้นตอนเมื่อกฎหมายกยศ. ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ลูกหนี้กยศ.จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มลูกหนี้ กยศ.เดิม ที่กำลังศึกษาอยู่ หรือจบแล้ว ทำงานแล้ว และอยู่ระหว่างการชำระหนี้ และ 2.กลุ่ม ลูกหนี้กยศ.ที่จะมีการดำเนินการตามกฎหมายฉบับใหม่
โดยกลุ่มลูกหนี้กยศ.เดิม กฎหมายให้อำนาจกยศ. เข้าไปขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ เช่น กรมสรรพากร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ว่า ปัจจุบันลูกหนี้กยศ. ที่ค้างจ่ายหนี้กยศ.ทำงานอยู่ที่ใดบ้าง เมื่อทราบข้อมูลแล้ว กยศ.จะส่งหนังสือแจ้งไปยังลูกหนี้และนายจ้าง เพื่อขอให้นายจ้างนำลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้กยศ.เข้าสู่กระบวนการหักเงินเดือน
“กองทุนจะแจ้งอัตราไปว่า แต่ละปีลูกจ้างจะต้องถูกหักเงินเท่าใด โดยที่นายจ้างจะต้องมีส่วนร่วมกับกองทุนในการให้ลูกจ้างเซ็นสัญญายินยอมให้หักเงินเดือนเข้า กองทุนกยศ.ส่วนวิธีการปฏิบัติจะมีการประกาศอีกครั้ง โดยจะมีการทำความเข้าใจกับองค์กรนายจ้างว่าหักเงินและนำส่งเงินอย่างไร”
ทั้งนี้ กยศ.ได้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอภาระต่างๆ เข้ามาเจรจาเพื่อเคลียร์หนี้สินเก่า และอาจมีการเจรจาเพื่อลดจำนวนเงินที่จะถูกหักรายเดือนลง หรือขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการให้นายจ้างหักเงินเดือน ส่วนลูกหนี้กยศ.ที่ไม่ได้ค้างหนี้ แต่หากต้องการให้นายจ้างหักเงินเดือนก็ทำได้
ส่วนลูกหนี้กยศ.ที่เบี้ยวหนี้ และไม่แสดงตนเพื่อจ่ายหนี้ ทางกยศ. จะมีมาตรการดำเนินการ 3 รูปแบบ คือ
1.ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อลูกหนี้ และขอให้มาชำระหนี้ จากเดิมที่ทำได้เพียงส่งจดหมายทวงถามหนี้เท่านั้น โดยกยศ.เคยใช้วิธีการนี้กับลูกหนี้บางราย ซึ่งก็ได้ผลดี
2.หากกยศ.ได้ข้อมูลว่าลูกหนี้กยศ.ทำงานอยู่ที่ใด ก็จะแจ้งไปยังนายจ้างทราบ ซึ่งจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือ และอาจมีผลต่อการเลื่อนตำแหน่งได้ เพราะการไม่จ่ายหนี้บ่งบอกว่าลูกจ้างมีพฤติกรรมไม่สุจริตอย่างไร
3.เป็นวิธีการสุดท้าย คือนำข้อมูลการผิดนัดชำระหนี้ เข้าสู่ฐานข้อมูลเครดิตบูโร ซึ่งจะมีผลทำให้ลูกหนี้ทำนิติกรรมซื้อบ้าน ซื้อรถไม่ได้ แม้จะจ่ายหนี้แล้ว แต่ยังมีชื่อติดเครดิตบูโร 3 ปี
“สุดท้ายแล้วหากลูกหนี้กยศ.ไม่จ่ายหนี้คืน ก็ต้องฟ้องร้อง บังคับคดี ยึดหรืออายัดทรัพย์ เงินเดือนหรือทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ หรือผู้ค้ำมาใช้หนี้ แม้ว่ากองทุนฯจะไม่อยากทำ แต่กองทุนก็มีหน้าที่ ตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันกยศ.ได้ดำเนินคดีกับลูกหนี้ที่ไม่ยอมชำระหนี้แล้วกว่า 9 แสนราย โดยอยู่ระหว่างบังคับคดี ประมาณ 5 หมื่นคดี และปีนี้จะมีการฟ้องร้องอีก 5 หมื่นคดี”
นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า กฎหมายกยศ. ฉบับใหม่ จะทำให้ภายใน 1-2 ปีจากนี้ ลูกหนี้กยศ.ที่ค้างหนี้ที่มีสัดส่วนสูงถึง 50% ลดลงเหลือไม่ถึง 25% และน่าจะเหลือไม่ถึง 15% ภายใน 5 ปีจากนี้ ซึ่งหากในอนาคตผู้กู้ชำระหนี้สูงขึ้น กยศ.มีแนวคิดที่จะนำเงินกยศ.ไปปล่อยกู้ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น เช่น ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เพียงแต่วันนี้อัตราการชำระนี้ยังไม่สูงมาก ทางกองทุนจึงยังไปไม่ถึงตรงนั้น
“เดิมเราก็มองว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าหนี้เสีย ของกองทุนฯ จะลดลงเหลือ 15% แต่ทันทีที่กฎหมายกยศ.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จะทำให้เราเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ และตามหักเงินลูกหนี้จากนายจ้างได้ ซึ่งจะทำให้การลดลงของหนี้เสียเร็วกว่าเดิม เพียงแต่ว่าการดำเนินการในช่วง 6 เดือนแรก อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับนายจ้างมากหน่อย แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นแน่นอน” นายปรเมษฐ์กล่าว–จบ–
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ