เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและยกระดับการจัดการเรียนการสอนภายใต้โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 1 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กอศ., ผู้บริหารของ กระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 แห่ง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การเรียนรู้และการทำงานจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ จะสามารถนำพาประเทศก้าวสู่การแข่งขันได้ ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานการเป็นคนไทยที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และมีวัฒนธรรมไทยที่ดีงามด้วย ตลอดจนเป็นคนที่มีคุณภาพ พร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 และพาประเทศก้าวพ้นวิกฤตในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมกันในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาต่อความเข้าใจของผู้ปกครองและเยาวชนที่ต้องการมาเรียนอาชีวะ ให้มีความกล้า ความภาคภูมิใจ และร่วมกันสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ พัฒนาผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับการยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และตอบโจทย์ความต้องการของภาคเศรษฐกิจและสังคม
การประชุมในครั้งนี้ จึงต้องการยกระดับคุณภาพกำลังคนอาชีวศึกษาด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ของวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ โดยมีนโยบายที่สำคัญในการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้
1. ต้องเปลี่ยนจากครูผู้สอนเป็นวิทยากรกระบวนการ (Facilitator) โดยมีหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศในห้องเรียน และนอกห้องเรียน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่นักเรียนสนใจ เพื่อให้นักเรียนได้มีจินตนาการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ โดยครูเป็นพี่เลี้ยงที่จะแนะนำให้นักเรียน ศึกษาและลงมือทำในสิ่งที่อยากทำและสนใจ
2. ต้องปรับการจัดการเรียนรู้ STEM (Science Technology Engineering Mathematics) เป็น STEAM (Science Technology Engineering Arts Mathematics) โดยเพิ่ม “A” คือ Arts (Arts of Life) คือ ศิลปะในการมีชีวิตอยู่แบบคนไทย มีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยเชื่อมโยงความเป็นอยู่และปัญหาในชีวิตประจำวันของคนไทย เช่น ความเอื้อเฟื้อ เกี้อกูล ความเมตตากรุณา ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ความมีศีลธรรมต้องควบคู่กับการเรียนการสอนและการปฏิบัติหรือการวิจัยในการแก้ปัญหาของสังคม
3. ใช้ STI (Science Technology & Innovation) ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยใช้กระบวนการเรียนการสอน STI หรือสติ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโลกในอนาคต
4. นำ Coding มาเป็นหัวใจสำคัญของทักษะการเรียนรู้ ที่ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นกับเยาวชนคนไทยทุกคน “Coding กับ STI” จะต้องดำเนินไปควบคู่กันจึงจะสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีระบบ มีตรรกะ เป็นขั้นตอนในเชิงวิทยาศาสตร์ และสามารถแก้ปัญหาเฉพาะตัว รวมทั้งสังคมและประเทศได้
5. เป็นผู้มีจิตสาธารณะและรู้จักการให้ เช่นเดียวกับสถาบัน KOSEN ซึ่งมุ่งผลิตวิศวกรทางด้านนวัตกรรมและวิศวกรเชิงปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหา สร้างสรรค์นวัตกรรม โดยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เปรียบเสมือนแพทย์ของสังคมที่เรียกว่า Social Doctor สถาบัน KOSEN จะคัดเลือกผู้เรียนที่มีจิตสาธารณะ รู้จักการให้ ซึ่งการให้เป็นการสร้างสังคมและคุณค่าของตนเอง ดังนั้นผู้ที่จะเข้าศึกษาในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ก็ต้องเป็นผู้มีจิตสาธารณะและรู้จักการให้เช่นเดียวกัน
“ฝากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างและพัฒนานักเทคโนโลยี ที่มีความสามารถในการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เข้ากับทักษะการเรียนรู้ด้านช่างมากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ อันจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีให้ภาคการผลิตและบริการของประเทศให้มีศักยภาพที่สูงยิ่งขึ้น” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
29/6/2564